"นายกฯ" แจงการจัดหาเครื่องบิน F-35 เพื่อทดแทนของเก่าปลดประจำการ

"นายกฯ" แจงการจัดหาเครื่องบิน F-35 เพื่อทดแทนของเก่าปลดประจำการ

"นายกฯ" แจงการจัดหาเครื่องบิน F-35 เพื่อทดแทน F-16 และ F-5 ที่จะปลดประจำการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเชื่อมั่น ย้ำไทยดูแลสิทธิมนุษยชน ผู้อพยพจากการสู้รบ ชายแดนเมียนมา

22 ก.ค.2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 แทนเครื่องบินF-16 และF-5 ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานในช่วงปี 2575 โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 40 ปี โดยได้มีการวางแผนจัดหาไว้ 3 ระยะ  12 เครื่อง ครั้งละ 4 เครื่อง และใช้เวลาในการจัดหา 10 ปี ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของศักยภาพอื่น ๆ เช่น ศักยภาพสงคราม ซึ่งจะรบหรือไม่รบตนไม่รู้ แต่ก็ต้องมีศักยภาพตรงนี่เอาไว้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาที่จะพิจารณาในเรื่องของกรอบงบประมาณ 

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าซื้อมาเฉพาะเครื่องบินแต่ไม่มีอาวุธนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า F-35 กับ F-16 เป็นเครื่องบินในตระกูลเดียวกัน ดังนั้นเมื่อซื้อ F-35 มาอาวุธต่าง ๆ ก็สามารถใช้ของ F-16 ได้ และหากจะติดตั้งอาวุธใหม่ก็สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ในภายหลัง ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณอย่างประหยัด ได้อะไรมาใหม่ ก็อาจจะต้องใช้ของเดิมประกอบไปบ้าง ยืนยันว่าเมื่อสามารถเพิ่มขีดความสามารถตรงนี้ไว้ได้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และขอเรียนว่าวันนี้ถึงแม้ว่าเราจะเป็นมิตรกันแต่เรื่องของศักยภาพในการป้องกันประเทศในด้านนี้ ก็ยังมีการแข่งขันกันสูงอยู่ และยังมีการข่วยเหลือมาจากประเทศต่างๆมากมายทั้งทางบก ทางเรือ และใต้น้ำ 

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าการนำเครื่องบินที่ทันสมัยขึ้นบินแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการจัดหาเครื่องบินฝึกสำรองไว้ด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการฝึก และเครื่องบินแบบนี้คงไม่ได้มีการใช้เวลาในการทำการบินนาน เพราะเราคงไม่เอาเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปลาดตระเวรนานเป็นชั่วโมง เว้นแต่จะต้องเอาไปแสดงศักยภาพไว้ให้อีกฝ่ายถอยกลับไป

สำหรับการต้องขออนุมัติจากสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกานั้น ยืนยันว่า การพิจารณาของ สภาคองเกรส ในการขายอาวุธให้ประเทศพันธมิตร จะต้องพิจารณาในความพร้อมของประเทศที่จะขายให้ด้วย เช่น การรักษาความลับของเทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับยุทธโธปกรณ์ รวมถึงความชัดเจนในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งวันนี้กองทัพอากาศได้ส่งหรังสือขอรับทราบราคาและระยะเวลาในการจัดหาไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อธันวาคมปี 2564 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะผ่านการพิจารณาในต้นปี 66 ทางการไทยจะได้ส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 

ทั้งนี้ในส่วนอากาศยานไร้คนขับของ กองทัพเรือ มีการจัดหาตามความจำเป็น ใช้งบประมาณ 4,070 ล้านบาท ใข้เวลา 4 ปี (ปี65-68) โดยในส่วนของ TOR นั้นไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องซื้อจากประเทศใด หรือบริษัทใด แต่จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยวันนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ

“ในเมื่อสตางค์เราไม่พอ เราก็เอาเครื่องบินมาก่อน เราใช้ในการตรวจการณ์ มันต้องมีการรบร่วมทางอากาศ ทางเรือ มียุทธการณ์ร่วมผสม และถ้ามันจำเป็นขึ้นมาอย่างน้อยเราก็มีอากาศยานไร้คนขับช่วยในการลาดตระเวรทางทะเล เพราะเรือดำน้ำเราก็ไม่มี วันนี้เราก็ไม่รู้ว่าใครดำมาแล้วบ้าง เพราะรอบบ้านเรามีสักประมาณ 10 ลำได้ในเวลานี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ปัญหาการต่อสู้กับรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยของเมียนมานั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าสิ่งที่ไทยสามารถดูแลได้คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องอาหาร ยารักษาโรค และเมื่อการสู้รบจบลงก็เดินทางกลับไปยังประเทศเขา เราก็ไม่ได้ค้องการให้เขามาอยู่ในประเทศไทยนานเกินไป ซึ่งไทยก็มีศูนย์อพยพอยู่มากมาย หลายปีก่อนก็มีผู้อพยพอยู่หลายแสนคน ตอนนี้ก็ยังเหลืออยู่อีกประมาณแสนคนที่ยังไม่ได้กลับไป ซึ่งไทยก็ยังต้องดูแลอยู่ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง ระมัดระวัง และควรหาวิธีแก้ปัญหาด้วยความสงบและเป็นสากลจะดีกว่า