"​นิกร" ชี้3 แทคติก ทางกฎหมาย ทวงคืน สูตรคำนวณ100หาร

"​นิกร" ชี้3 แทคติก ทางกฎหมาย ทวงคืน สูตรคำนวณ100หาร

"นิกร" เชื่อ ประชุมรัฐสภา ถกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง วุ่นแน่ ปมแก้สูตรคำนวณส.ส.ใช้500คนหาร มีผลกระทบมาตราอื่น พร้อมชี้3แทคติกกฎหมาย ทวงคืนสูตร100คนหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ต่อเนื่องในวาระสอง ที่เหลือมาตราที่รอพิจารณาประมาณ 10 มาตรา โดยเชื่อว่าจะมีปัญหาและกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวทำไม่แล้วเร็จ เนื่องจากมีประเด็นที่รัฐสภาลงมติพลิกสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนจำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ในมาตรา 23 ทั้งนี้ในการแก้ไขดังกล่าวเบื้องต้นจะมีผลกระทบต่อมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง 2-3 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 24 ซึ่งผ่านการพิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้กมธ.เคยมีการหารือนอกรอบเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งกมธ.เสียงข้างน้อย นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้กมธ.เรียกประชุมเพื่อแก้ปัญหาก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณา แต่กมธ.เสียงข้างมากมองว่าทำไม่ได้ เนื่องจากหมดหน้าที่ไปแล้ว

 

“ปัญหาที่มี สำคัญ คือไม่รู้ปัญหาคือตรงไหนและจะแก้อย่างไร และใครมีหน้าที่ต้องแก้ไข เนื่องจากกมธ.เสียงข้างน้อยที่ชนะสูตรคำนวณส.ส. นั้นไม่ได้เสนอคำแปรญญัตติหรือสงวนความเห็นเพื่อแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นเชื่อว่าการประชุมรัฐสภา วันที่ 26 กรกฎาคมจะมีปัญหาวุ่นวาย ต้องใช้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาโดยประธานรัฐสภาต้องมีความเห็น  ซึ่งขณะนี้ไม่รู้ปัญหาคืออะไร ต้องแก้ตรงไหนและจะแก้ไขอย่างไร”นายนิกร กล่าว

 

นายนิกร กล่าวตอบคำถามถึงความพยายามฟื้นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ว่า  มีความเป็นไปได้ ใน 3 วิธี โดยวิธีแรกให้ของดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเพื่อย้อนกลับไปพิจารณามาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ แต่ไม่ควรทำ อย่างยิ่งเพราะจะทำให้เสียระบบกาารออกกฎหมายอย่างรุนแรง, วิธีที่สอง คือ ปล่อยให้ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว ทำไม่เสร็จและเลยเวลาไปถึงวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งจะครบกำหนด 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากร่างพ.ร.ป.ทำไม่เสร็จภายใน 180 วันต้องกลับไปใช้ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่รรัฐสภาพิจารณา ซึ่งเนื้อหาคือการใช้สูตรหาค่าเฉลี่ยด้วยจำนวน 100 คน  ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ควรทำเช่นกัน

 

นายนิกร กล่าวด้วยว่า วิธีที่สม ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำได้ คือ รัฐสภาพิจารณาให้จบในกระบวนการ ก่อนวันที่ 15 สิงหาคม จากนั้นส่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำความเห็นแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่า กกต.จะยืนยันสูตรใช้จำนวน  100 คนหาค่าเฉลี่ย เนื่องจากหากใช้จำนวน500คนหาค่าเฉลี่ยจะทำให้เกิดปัญหาแฮงโอเว่อร์ มีส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 300 ที่นั่ง พรรคที่ได้ส.ส.เขตแล้วจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ดังนั้นเมื่อกกต.ยืนยันเนื้อหาเดิม และส่งให้รัฐสภา รัฐสภาต้องประชุมเพื่อแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และใช้เสียงข้างมากลงมติ เบื้องต้นเชื่อว่าจะกลับไปใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อได้

 

นายนิกร ยังกล่าว ยอมรับถึงแนวความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อย้อนไปใช้บัตรใบเดียว  และใช้วิธีคำนวณแบบสัดส่วนผสม แต่ต้องรอให้การแก้ไขพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับให้แล้วเสร็จก่อน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากมีคนเสนอแก้ไขกลับไป สภาฯจะไม่เป็นสภา และควรเกรงใจประชาชนด้วย

 

“มีวิธีที่ทำได้ แต่ต้องให้การแก้ไข พ.ร.ป.แล้วเสร็จก่อน จากนั้นให้ส.ส.เข้าชื่อ 100 คน หรือ ครม. เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยระบุถึงปัญหาโดยอธิบายเหตุผลทางการเมือง แก้ไปบัตรใบเดียว สัดส่วนผสม ทั้งนี้ในกระบวนการทางนิติบัญญัติอาจมีปัญหาโดยเฉพาะเวลาของสภาที่เหลืออยู่ เพราะต้องแก้กฎหมายยลูกด้วย  เวลาจะไม่พอ ยกเว้นมีการเร่งรัด ส่วนในทางการเมืองทำไม่ได้ เพราะจะไม่มีเหตุผลอธิบายประชาชน ที่ผ่านมาทุกพรรคเห็นด้วยกับการก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบหมด ดังนั้นจะมีใครจะกล้าลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไข” นายนิกร กล่าว.