เปิด 5 แนวทาง “ชัชชาติ” นำผู้บริหาร กทม.ร่วม ACT ประกาศต้านโกง

เปิด 5 แนวทาง “ชัชชาติ” นำผู้บริหาร กทม.ร่วม ACT ประกาศต้านโกง

“ชัชชาติ” นำทีมผู้บริหาร กทม.ร่วม “ACT” ประกาศเจตนารมณ์-แสดงสัญลักษณ์ “ต้านโกง” เปิด 5 ข้อกำหนดป้องการทุจริต เปิดเมนูโปร่งใสใน Traffy Fondue ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเหตุ

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานในกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์และแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตร่วมกัน โดยมีนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้แทนจาก ACT ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตพร้อมทั้งรวมพลังแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตโดยใช้มือขวาทับมือซ้าย ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   

เปิด 5 แนวทาง “ชัชชาติ” นำผู้บริหาร กทม.ร่วม ACT ประกาศต้านโกง

นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดี ที่เราได้พบกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้บริหารกทม. ในการต่อต้านทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ ที่ผ่านมาประชาชนไม่ค่อยไว้ใจ กทม. ในเรื่องความโปร่งใส เป็นนโยบายหลักที่เราต้องหาภาคีเครือข่ายเอกชน มาร่วมกัน โดย ACT เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ผู้บริหาร กทม. ได้ไปร่วมพูดคุยด้วย ได้หารือแนวทางร่วมกันมีข้อกำหนด 5 ข้อ (Quick Win) ประกอบด้วย 

  1. รื้อฟื้นโครงการใบอนุญาตยิ้ม เป็นการขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านที่น้อยกว่า 300 ตารางเมตร ให้เสร็จภายใน 30 วัน และยื่นเอกสารใน 7 วัน ซึ่งเป็นโครงการที่เคยมีอยู่แล้ว โดยนำมาปรับใหม่ 
  2. การออกนโยบายห้ามเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกระดับห้ามรับของขวัญของกำนัล 
  3. กำหนดให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) และคู่ค้ารายใหญ่ต้องเข้าร่วม CAC ในโอกาสต่อไป เพื่อให้การดำเนินการระหว่างรัฐกับเอกชนมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น 
  4. โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ประกาศและให้สัตยาบัน ไม่รับค่าคอมมิชชั่นยาและเวชภัณฑ์จากผู้ขาย 
  5. ผู้บริหารและข้าราชการ กทม. ร่วมประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อให้เห็นว่าเราเอาจริงเอาจังกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน

เปิด 5 แนวทาง “ชัชชาติ” นำผู้บริหาร กทม.ร่วม ACT ประกาศต้านโกง  

“นี่คือโจทย์ 5 ข้อแรกที่ทาง ACT ให้มา และจะขอการบ้านเรื่อย ๆ ผมว่าการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ต้องทำร่วมกัน มีทั้งภาคีเครือข่าย มีทั้งประชาชน อย่าง Traffy Fondue ที่ผ่านมา มีคนแจ้งเหตุ 100,000 เรื่อง แก้ไขได้ 40,000 เรื่อง อาทิตย์ที่แล้วเราแยกเมนูต่างหากชื่อเมนู “กรุงเทพโปร่งใส” สามารถแจ้งเหตุเข้ามาได้ โดยเป็นเมนูพิเศษเป็นข้อมูลลับไม่เปิดเผย แยกจาก Traffy Fondue ปกติ เพื่อไม่ให้มีปัญหาทีหลัง ผมเชื่อว่าจะทำให้ความโปร่งใสเพิ่มขึ้นได้ และหวังว่าจะมีการขยายไปทั่วประเทศ นี่เป็นรูปแบบที่สำคัญ เป็น Start Up ด้านทุจริตที่เปลี่ยนรูปแบบเดิมในการแก้ปัญหา ขยายผลได้เร็ว น่าจะเป็นมาตรการหนึ่งให้เราได้รับพลังการแจ้งเหตุจากประชาชน และสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว  

ส่วนนายวิเชียร ประธาน ACT กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่นเดียวกับทางภาคประชาชน โดยมี ACT เป็นแกนนำ และเชิญภาคีต่าง ๆ มาอยู่ในคณะทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นที่มาของ 5 ประเด็น ไม่ว่าใบอนุญาต แนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชันของกรุงเทพธนาคม หรือการไม่รับสินบน ไม่รับไม่ให้ของกำนัลทั้งหลาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศเจตนารมณ์ เชิญชวนให้ทุกคนใน กทม. มีเจตนารมณ์ ไม่ทน ไม่ปฏิบัติ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขอขอบคุณคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กทม. ในความร่วมมือวันนี้ และก็หวังว่าจะส่งผลให้ กทม. เป็นที่ไว้วางใจ เป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆ และโดยประชาชนมีส่วนร่วม

เปิด 5 แนวทาง “ชัชชาติ” นำผู้บริหาร กทม.ร่วม ACT ประกาศต้านโกง

สำหรับกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์และแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตร่วมกัน ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการกรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานอื่นในกรุงเทพมหานคร ไม่เฉย ไม่ทำ และไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินการต่อต้าน  การทุจริตคอร์รัปชันของกรุงเทพมหานครสอดคล้องกับนโยบาย “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เป็นโจทย์หลักที่ใช้ในการออกแบบนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่นำมาสู่นโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” หรือ นโยบาย 9 มิติ 

โดยในมิติบริหารจัดการดีนั้น ได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครหันหน้าให้ประชาชน ปรับปรุงประสิทธิภาพ การให้บริการ เพิ่มความโปร่งใส และใช้เทคโนโลยีช่วย นโยบายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ นโยบายลดเสี่ยงโกง ผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน และนโยบายโปร่งใส ไม่ส่วย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีข้อสรุปร่วมกันกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในการดำเนินการด้านการต่อต้านการทุจริต และกำหนดให้มีการแสดงสัญลักษณ์ในการประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการทุจริตร่วมกัน โดยใช้มือขวาทับมือซ้าย