จับตาอภินิหารกม.คืนชีพ“บัตรใบเดียว” “3 ป.”ขยับล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล
ต้องจับตา “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่เนติบริกรจะให้คำแนะนำ “3 ป.” ล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเคลื่อนเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” เพราะหากฝืนใช้ “บัตรสองใบ” โอกาสกลับมาครองอำนาจรัฐหลังเลือกตั้งจะเหลือน้อยลง
ข้อจำกัดของ “บัตรสองใบ” เมื่อลองคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ หากหาร 100 แม้จะเข้าทางพรรคใหญ่ แต่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะได้จำนวน ส.ส. มากจนอาจจะเกินกึ่งหนึ่ง หากหาร 500 พรรคขนาดใหญ่-พรรคขนาดกลาง แทบไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เลย
“บัตรสองใบ” จึงไม่ตอบสนองพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ “3 ป.” เริ่มเคลื่อนไหววางเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” โดยในทางลับ ส.ส. พปชร. รับรู้กันอย่างทั่วถึงแล้วว่ามี “ใบสั่ง” กลับหันหลัง เตรียมแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อย้อนไปใช้กฎหมายเลือกตั้งที่คล้ายคลึงกัน
ล่าสุด “3 ป.” พยายามทำความเข้าใจกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” หลังการประชุมครม. แม้จะติดขัดกันอยู่ที่วิธีการกลับลำแก้รัฐธรรมนูญอาจจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็นหน้าที่ของ “3 ป.” ที่จะหาทางลงให้การคืนชีพ “บัตรใบเดียว” มีความชอบธรรมมากที่สุด
อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับเทอมสภาฯ ที่เหลืออยู่ แต่หากถูกเสนอเป็นวาระเร่งด่วน การพิจารณาอาจจะติดสปีดเร็วขึ้นได้ โดยสมัยประชุมปัจจุบัน ( 22 พ.ค. - 18 ก.ย.2565) สมัยประจำปี ครั้งที่สอง พ.ย.2565 ถึง ก.พ.2566 และอาจจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขึ้น เพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
เมื่อไล่ไทม์ไลน์ จะเห็นขั้นตอนได้ดังนี้ ขั้นตอนแรก เสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้าสู่การตรวจสอบญัตติโดย ส.ส. ประมาณ 1 สัปดาห์ หากเป็นร่างประชาชนจะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้อง 3 เดือน
จากนั้นบรรจุวาระนัดประชุมล่วงหน้า ซึ่งสามารถทำได้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งวาระปกติต้องรอ 1 สัปดาห์ ก่อนพิจารณาลงมติ “รับหลักการวาระแรก” ซึ่งมีเงื่อนไข ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง
ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเนื้อหา ซึ่งสามารถเร่งรัดดำเนินการ เร็วที่สุด 3-4 สัปดาห์ โดยเสนอพิจารณ "วาระสอง" ซึ่งเนื้อหาไม่มาก เพียง 1-2 วันแล้วเสร็จ
รอไว้ 15 วัน ก่อนจะมาโหวต “วาระสาม” หากไม่มีการเสนอแปรญัตติจะสามารถร่นระยะเวลาลงมาได้อีก โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ต้องเห็นชอบด้วย 20% ซึ่งก็ไม่ยาก หากใช้เสียง ส.ส.งูเห่า ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จำนวนหนึ่งที่พอจะโหวตให้เข้าหลักเกณฑ์ตรงนี้ได้ รวมกับ ส.ว. 84 เสียง
จากนั้นรอไว้ 15 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนี้ ส.ส. และส.ว.สามารถเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งมีกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จ 30 วัน ขั้นตอนนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับศาล
ดังนั้น รวมทุกขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเร่งรัด จะใช้เวลาประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน แต่หาก่ไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น
อีกทั้ง “ขั้วรัฐบาล” ที่กุมเสียงข้างมาก มีโอกาสที่จะขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย
หลังจากนี้ต้องจับตา “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่เนติบริกรจะให้คำแนะนำ “3 ป.” ล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเคลื่อนเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” เพราะหากฝืนใช้ “บัตรสองใบ” โอกาสกลับมาครองอำนาจรัฐหลังเลือกตั้งจะเหลือน้อยลง