“ก้าวไกล” เชื่อหวนใช้บัตรใบเดียวยาก ยันร่าง กม.ลูกเลือกตั้งเสร็จทัน 15 ส.ค.
“ก้าวไกล” ยันร่าง กม.ลูกเลือกตั้ง เสร็จทัน 15 ส.ค.แน่ หากองค์กรอิสระยึดเจตจำนงแก้ รธน. ตีกลับใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 ยังมีเวลาพอยื่นแก้ไข เชื่อหวนคืนใช้บัตรใบเดียวไม่ได้แน่
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเตรียมกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายภายในกรอบ 180 วัน หรือภายใน 15 ส.ค.2565 และต้องกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100 ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้การแก้ไขกฎหมายลูกยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการ และคาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 สิงหาคมอย่างแน่นอน โดยการประชุมรัฐสภาวันที่ 2 ส.ค. 2565 จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่ค้างการพิจารณาอยู่ เชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในวันเดียวกัน และตามวาระการประชุม จะต่อด้วยร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ได้หารือกันว่า จะเลื่อนกฎหมายลูกมาพิจารณาต่อในวันที่ 3 ส.ค.2565 และคิดว่าจะแล้วเสร็จในวันเดียวกัน แต่หากเกิดอุบัติเหตุ จนไม่เสร็จในวันดังกล่าว รัฐสภายังมีทางออก โดยการนัดประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 9-10 ส.ค. จึงเสร็จทันก่อนวันที่ 15 ส.ค.อย่างแน่นอน
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ตนไม่สามารถตอบแทนแต่ละพรรค หรือ ส.ว.ได้ ว่าการลงมติในวาระ 3 จะเป็นอย่างไร หากคว่ำกฎหมายลูกในวาระ 3 ต้องย้อนกลับไปเริ่มกระบวนการเข้ามาใหม่ อาจจะใช้ร่างของ ครม.เป็นหลัก เราจึงต้องหาทางออกตามกระบวนการรัฐสภา แต่หากผ่านวาระ 3 ก่อนวันที่ 15 ส.ค. จะเป็นไปตามกระบวนการปกติ ที่ต้องส่งร่างให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา และส่งความเห็นกลับมา หากว่ากันตามเจตจำนงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอิสระอาจจะชี้กลับมาว่า การหารด้วย 500 ไม่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และต้องกลับไปใช้การหาร 100 หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐสภา อาจจะต้องพิจารณาว่า จะเห็นด้วยกับความเห็นขององค์กรอิสระหรือไม่ ดังนั้นการหาร 500 อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น ในการแก้ปัญหาของรัฐสภา
ส่วนที่จะกลับไปใช้บัตรใบเดียวได้หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นการแก้ใน 2 เงื่อนไข คือ การแก้มาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คำนวณคะแนนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนที่ได้รับจากบัญชีรายชื่อ ฉะนั้นตามเจตจำนงจึงไม่สามารถกลับไปแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้แน่ แต่ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการกลับไปใช้บัตรใบเดียวหรือไม่ คงต้องเป็นเรื่องหลังจากนี้ แต่หากเป็นเช่นนั้น รัฐสภาจะถูกตั้งคำถามว่า ตกลงการแก้กติกาเลือกตั้งกลับไปกลับมา เป็นการแก้เพื่อประชาชน หรือเพื่อกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง หรือคนใดคนหนึ่งหรือไม่
เมื่อถามว่า หากกฎหมายลูกไปต่อไม่ได้ และมีบางฝ่ายอยากกลับไปใช้บัตรใบเดียว ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ใช่ แต่เชื่อว่ายังมีกระบวนการที่ไปต่อได้ โดยคนยื่นแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า แก้ไขเพื่ออะไร เพราะกระบวนการรัฐสภา ยังไปต่อได้ และมีทางออก
“พรรคก้าวไกลสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน หรือจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) แต่เราเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เราจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้กติกาเลือกตั้งเหมือนปี 2562 เพราะปัญหาจะวนกลับมาแบบนี้อีก ท้ายที่สุดก็จะยุ่งกับการแก้ไขกติกาอีกรอบ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชนได้ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ๆ ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งฉบับ แบบนี้จึงจะเป็นคำตอบสุดท้ายและเป็นคำตอบที่ดีที่สุด” นายณัฐวุฒิ กล่าว
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว หรือกติกาเลือกตั้งแบบปี 2562 นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องระยะเวลาของกระบวนการทั้งหมดได้ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วว่า จะทำอย่างไร เนื่องด้วยสภาชุดนี้เหลือเวลา 8 เดือน ถือว่าเพียงพอที่จะสามารถทำตามกระบวนการทั้งหมดให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ แต่จะตอบสังคมไม่ได้ และอาจจะเกิดกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนนำสังคมไปสู่ทางตัน ปัจจุบันยังมีร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในการพิจารณาอีก 3-4 ฉบับ เช่น ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของภาคประชาชน และร่างของคณะก้าวหน้า เราจึงต้องให้ความสำคัญกับร่างเหล่านี้ก่อน เพราะได้รับการบรรจุเข้าวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเดินหน้าแก้ไขกติกาเลือกตั้งอย่างเดียว