“วิษณุ” เชื่อมีทุจริตในวงราชการ หนุน ครม.ออกกฎเหล็กให้นำผล ITA ไปปรับปรุง

“วิษณุ” เชื่อมีทุจริตในวงราชการ หนุน ครม.ออกกฎเหล็กให้นำผล ITA ไปปรับปรุง

“วิษณุ” เชื่อปัจจุบันยังมีการทุจริตในแวดวงราชการ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หนุน ครม.ออกมาตรการให้หน่วยงานรัฐนำผล ITA ไปปรับปรุง ขอประชาชนช่วยติดตามตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานแถลงข่าวผ่านไลฟ์สดถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2565 โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงความสำคัญในการประเมิน ITA ว่า ความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ไม่ควรเป็นประเด็นให้มีความสงสัยถึงความจำเป็น และความสำคัญอีกต่อไปในยุคปัจจุบัน เพราะทั้ง 2 อย่างนี้คือคุณธรรม และความโปร่งใส เป็นสาระสำคัญในจำนวน 6 ประการของคำว่า ธรรมาภิบาล หรือหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่ใช้เรียกในปัจจุบัน หรือ Good Government โดยสหประชาชาติ และธนาคารโลก ถือเป็นกุญแจสำคัญความสำเร็จในการพัฒนาประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

นายวิษณุ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐธรรมนูญมาตรา 76 และมาตรา 164 กำหนดว่า หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติ ขณะเดียวกันมาตรา 76 กำหนดไว้ว่ารัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม และความโปร่งใส ให้เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐทุกประเภท ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการจากรัฐ ทำให้เกิดความเท่าเทียม มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โปร่งใส และประชาชนจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เต็ม ๆ จึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ โดยทั้งหมดจะต้องมีการประเมินเป็นระยะ ๆ คำว่าประเมินในที่นี้ เมื่อใช้คำว่า ITA ต้องมีการประเมินตามหลักการส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี ต้องหาหน่วยงานมาประเมิน การจะให้ผู้ปฏิบัติ หรือเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐประเมินก็ทำได้ แต่ความน่าเชื่อถืออาจไม่สูง ไม่มากพอ ต้องขอบพระคุณที่มีหน่วยงานกลางคือ สำนักงาน ป.ป.ช. เข้ามาดำเนินการ และไม่ใช่ว่าเพิ่งดำเนินการในปีนี้ แต่ดำเนินการมาหลายปี จนจะครบ 10 ปีอยู่แล้ว รวมถึงมีเรื่องน่ายินดี และน่าประหลาดใจคือ มีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนกว่า 1 ล้านราย เข้ามาร่วมการประเมินครั้งนี้ด้วย ถือว่าเป็นการประเมินที่มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา

“วิษณุ” เชื่อมีทุจริตในวงราชการ หนุน ครม.ออกกฎเหล็กให้นำผล ITA ไปปรับปรุง

ส่วนบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการประเมิน ITA นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มีหลายประการ ได้แก่

  • ประการแรก การที่คณรัฐมนตรีมีมติเรื่องนี้ เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา
  • ประการที่สอง การเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม เช่น กฎหมายระเบียบบริการราชการแผ่นดิน กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งกฎหมายที่เกี่ยวพันกับความประพฤติ ความปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมาย ป.ป.ช. เป็นต้น

โดยวันนี้มีกฎหมายค้างในสภาอีกฉบับ คาดว่าอีกไม่กี่เดือนออกมาใช้ได้ คือกฎหมายการปฏฺบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดสนับสนุนความโปร่งใสทั้งสิ้น ไม่ว่าไปถึงกฎหมายมีมานานสมควร คือ กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นต้น มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างเข้มงวดกวดขันขึ้น 

เราเชื่อว่ายังมีการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในส่วนความไม่ตั้งใจคือไม่รู้ว่าการทำสิ่งนี้คือการทุจริต” นายวิษณุ กล่าว

“วิษณุ” เชื่อมีทุจริตในวงราชการ หนุน ครม.ออกกฎเหล็กให้นำผล ITA ไปปรับปรุง

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ปราการสำคัญในการป้องกันการทุจริตคือ การส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้มีคุณธรรม และส่งเสริมหน่วยงานรัฐให้การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอน ตามกฎระเบียบต่าง ๆ เปิดเผยได้ การอนุญาต อนุมัติ หรือไม่อนุญาต ไม่อนุมัติเพราะอะไร การทำสิ่งที่ประชาชนรู้สึกว่าล่าช้า เกิดจากอะไร สิ่งเหล่านี้มีกฎหมายอยู่ และมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อยู่ เช่น สำนักงาน กพร. สำนักงาน กพ. เป็นต้น

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในทุกครั้งทุกปีที่มีการทำ ITA แต่ยังสังเกตเห็นว่า หน่วยงานรัฐนำไปใช้ปรับปรุงน้อย ฉะนั้นมาคราวนี้ ขอให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ นำเอาไปใช้ปรับปรุงให้มากขึ้น และรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีเองคงจะหามาตรการที่จะให้หน่วยงานรัฐเหล่านั้นรายงานกลับมาให้ได้ว่า ได้นำผลนั้นไปใช้อย่างไร ประชาชนช่วยติดตามต่ออีกชั้นหนึ่งว่า เมื่อได้มีการประเมินคือ ITA แจ้งผลประเมิน แจ้งคะแนน หน่วยงานรัฐได้นำไปปรับปรุงหรือไม่ ดีขึ้นหรือไม่ ต้องอาศัยประชาชนเป็นหูเป็นตาในส่วนนี้

นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอแสดงความรู้สึก 3 อย่าง

  1. ขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในการทำ ITA ตรงนี้ให้ความร่วมมืออย่างดี ตัวเลข 8,303 แห่งถือว่าน่าพอใจ รายละเอียดครอบคลุมหมด โดยผลประเมินไม่ใช่แค่แจ้งให้ประชาชนทราบ หรือหน่วยงานรัฐทราบ แต่นำไปใช้ในระดับโลก ในการประเมินระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
  2. อยากจะขอให้กำลังใจแก่หน่วยงานรัฐทั้งหลาย อาจได้คะแนนไม่ดีพอ อาจต้องปรับปรุงและทำอะไรให้มากขึ้น ขอให้กำลังใจว่า ของอย่างนี้มันผิดพลาดกันได้ เพราะหน่วยงานรัฐประกอบด้วยบุคลากรจำนวนมาก หน่วยนี้ทำได้ดี หน่วยนั้นทำไม่ได้ดี พอถัวกันแล้วก็ฉุด อยากให้กำลังใจอยู่ดี
  3. ขอแสดงความยินดีต่อหน่วยงานรัฐ ที่ทำ ITA ในปีที่ผ่านมาได้คะแนนน้อย มาปีนี้ได้คะแนนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งสำรวจบางหน่วยงานครั้งแรก ทำได้คะแนนสูง ดี ก็ต้องขอแสดงความยินดี ถือว่าท่านเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานรัฐอื่นเรียนรู้เรื่องนี้ต่อไป