รู้จัก “ธณิกานต์” คุก 1 ปีคดีเสียบบัตรแทนกัน วัดบรรทัดฐาน 3 ส.ส.ภูมิใจไทย

รู้จัก “ธณิกานต์” คุก 1 ปีคดีเสียบบัตรแทนกัน วัดบรรทัดฐาน 3 ส.ส.ภูมิใจไทย

ย้อนประวัติ “ธณิกานต์” จากนักธุรกิจผลิตโพลิเมอร์ พลาสติก ถ้วยรางวัล สู่การรู้จัก “บี พุทธิพงษ์” ชักชวนมาร่วมงาน พปชร. ก่อนโดนศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสน แต่รอลงโทษ 2 ปี คดี “เสียบบัตรแทนกัน”

ชื่อของ “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือนักการเมืองรายล่าสุดที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี คดีถูกกล่าวหาว่า “เสียบบัตรแทนกัน” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างน้อย 8 ราย ถูกกล่าวหาคดี “เสียบบัตรแทนกัน” แต่มีแค่ 4 รายที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา และผิดจริยธรรมร้ายแรง แบ่งเป็น

  • พรรคพลังประชารัฐ 1 ราย คือ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.
  • พรรคภูมิใจไทย 3 ราย คือ นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และนายภูมิศิษฎ์ คงมี ส.ส.พัทลุง

โดยความคืบหน้าในส่วนคดีอาญานั้น “ธณิกานต์” คือ ส.ส.รายแรก ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท แต่รอลงอาญา 2 ปี ส่วนอีก 3 ส.ส.ภูมิใจไทย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ

ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาผิดจริยธรรมร้ายแรงนั้น ศาลฎีกา นัดฟังคำพิพากษาราย น.ส.ธณิกานต์ ในวันที่ 16 ส.ค. 2565 ส่วน 3 ส.ส.ภูมิใจไทย ศาลฎีกา นัดวันที่ 21 ธ.ค. 2565

ผลของคำพิพากษารายของ “ธณิกานต์” น่าจะเป็น “บรรทัดฐาน” ในการตัดสินคดีของ 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไม่มากก็น้อย

อ่านข่าว: คุก 1 ปี แต่รอลงโทษ 2 ปี “ธณิกานต์” ส.ส.พปชร. คดีเสียบบัตรแทนกัน

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของ “ธณิกานต์” มาก่อนหน้านี้ เนื่องจากเคยสังกัดกลุ่ม “ดาวฤกษ์” แต่ต่อมาได้ถอนตัวออกจากกลุ่มดังกล่าว มาเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีเป็นหลัก
 
ก่อนหน้าจะมาลงเล่นการเมือง “ธณิกานต์” เคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก ระบุว่า ช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัวเกี่ยวกับโพลิเมอร์ พลาสติก อะคริลิก และถ้วยรางวัล รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ D.O.C. กระเป๋าที่ทำจากวัสดุอะคริลิก ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจในครอบครัว รวมถึงเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับอีกหลายบริษัท

เส้นทางการเมืองของเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อได้เรียนหลักสูตรพิเศษของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และได้รู้จักกับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” หรือ “บี” แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขณะนั้น จนได้รับการชักชวนให้มาเล่นการเมือง และก้าวมามีบทบาทใน พปชร. ปีก “คนรุ่นใหม่” ในพรรคชื่อว่า “Think Tank” 

กระทั่งเจ้าตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต กทม. กวาดคะแนนเสียงไป 25,180 คะแนน ได้เข้าไปนั่งในสภาฯ

โดยตำแหน่งของ น.ส.ธณิกานต์ ก่อนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และเเนวทางการเเก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ในมุมทรัพย์สิน น.ส.ธณิกานต์ แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ระบุว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 64,274,658 บาท หนี้สิน 2,561,380 บาท

ในมุมธุรกิจ ปัจจุบันไม่ปรากฎชื่อ น.ส.ธณิกานต์ เป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งใด

แต่ก่อนหน้านี้ เธอเคยเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง คือ

  1. บริษัท เซเรโบร จำกัด ทำธุรกิจการผลิตอาหารปรุงสำเร็จบรรจุในภาชนะปิดสนิทโดยวิธีสุญญากาศ
  2. บริษัท รางวัลไทย จำกัด ทำธุรกิจผลิตถ้วย โล่ เหรียญรางวัล

ส่วนคนสกุล “พรพงษาโรจน์” ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 8 แห่ง ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ร้านขายปลีกของใช้อื่นๆในครัวเรือนซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ร้านขายปลีกนาฬิกาแว่นตาและอุปกรณ์ถ่ายภาพ การผลิตผลิตภัณฑ์เคมีอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 

ปัจจุบันยังเปิดดำเนินกิจการอยู่อย่างน้อย 2 แห่ง คือ บริษัท ลัคกี้ พลัส จำกัด และบริษัท ท็อปอาร์ตโปร จำกัด

สำหรับพฤติการณ์ของ น.ส.ธณิกานต์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจำเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 แทนจำเลย

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และการที่จำเลย ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ แต่กลับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจำเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ  รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... วาระที่ 1 และวาระที่ 3  แทนจำเลย เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรณีที่จำเลยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ถือได้ว่าเป็นปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย 

อย่างไรก็ตามมูลเหตุที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากจำเลยต้องไปเป็นวิทยากร ในงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่องการเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญ ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยในสถานหนัก

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี