34 ปี "ฎีกา99-พล.อ.เปรมโมเดล" สู่ 8 ปี ปมร้อนสั่นคลอน"ประยุทธ์"
2ห้วงเวลาที่ "เหมือน" และ "ต่าง" จาก "ฎีกา99" สู่การตัดสินใจวางมือทางการเมืองของ "พล.อ.เปรม" 34ปีผ่านไปการเมืองไทยวนลูปกลับมาที่ "ปมร้อน8ปี" เก้าอี้"พล.อ.ประยุทธ์"
เดือนสิงหาคม อุณหภูมิการเมืองแรงไปด้วยปมร้อน ไม่ว่าจะเป็นกติกาเลือกตั้ง ผ่านบทบัญญัติทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ต่างฝ่ายต่างงัดสารพัดกลเม็ดออกมาต่อสู้กันอย่างดุเดือด
ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งปมร้อน ที่ดูเหมือนจะมีความพยายามผูกโยงเข้าด้วยกัน และกลายเป็นวาระร้อนในยามนี้ หนีไม่พ้นประเด็น “เส้นตาย 8 ปี” สถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158
บทบัญญัติตามมาตราดังกล่าว เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
ข้อถกเถียงจากปมปัญหาที่เกิดขึ้นจนถึงยามนี้ มีการตีความรวมถึงถกเถียงในแนวทางที่แตกต่างกัน
ในมุมของพรรคการเมือง “ขั้วฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มองว่า คำว่า “เกินแปดปี” ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ หมายถึง การนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯหลังจาก 24 ส.ค.นี้
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน ที่เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในวันที่17 ส.ค.นี้ หวังผลไปถึงการสิ้นสุดสถานภาพของ พล.อ.ประยุทธ์
ทว่า ในมุมของรัฐบาล ยามนี้ยังเชื่อมั่นว่าด้วย “เทคนิคกฎหมาย” ประเด็นนี้ อาจตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการเสนอชื่อ ของพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ
ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2562 สถานะจะไปสิ้นสุดในปี 2570
หรือหากจะใช้อีกหนึ่งเทคนิคกฎหมาย คือนับตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย.2560 สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปสิ้นสุดในปี 2568
โดยเฉพาะท่าที “พี่ใหญ่ 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ล่าสุดหลุดปากพูดถึงประเด็นนี้ว่า “นายกฯ ยังอยู่ต่ออีก 2 ปี”
แต่กระนั้น ประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “พล.อ.เปรมโมเดล” ในยุครัฐบาล “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ 3 สมัย ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน
จนกระทั่งเกิดกระแสคัดค้าน พล.อ.เปรม เป็นนายกฯสมัยที่ 4 ในช่วงปี 2531 นำมาสู่กรณี “ฏีกา 99” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการปัญญาชน จำนวน 99 คน ซึ่งมีทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประเวศ วะสี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ธงทอง จันทรางศุ สุรชาติ บำรุงสุข เป็นต้น
ก่อนที่ต่อมา พล.อ.เปรม จะปฏิเสธเทียบเชิญของผู้แทนของ 5 พรรคการเมือง ชาติไทย กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ราษฎร และสหประชาธิปไตย ด้วยวลีที่ว่า
“ผมพอแล้ว 8 ปี 5 เดือน ขอให้พวกคุณทำกันต่อไป และผมอยากเห็นประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้า”
วลีดังกล่าว ถูกพูดถึงมาจนถึงปัจจุบัน และถูกหยิบยกมาเทียบกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ณ เวลานี้
เมื่อเหตุการณ์ในอดีตวนลูปกลับมาสู่ปัจจุบัน สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของบรรดานักวิชาการรวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง อาทิ “กลุ่ม 99 พลเมือง” นำโดย เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่หยิบยกโมเดลในลักษณะคล้ายกับยุคของพล.อ.เปรม เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากครบกำหนด 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 60 และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยความเคลื่อนไหวที่ดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ แม้เบื้องหน้า ท่าทีจากฝั่งรัฐบาล รวมถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่เบื้องลึกจริงๆ ด้วยกระแสที่พุ่งตรงมาที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่หยุดหย่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดา “คีย์แมน” ในซีกรัฐบาล ต้องเตรียม “แผนเอ-แผนบี” ในกรณีเกิดอุบัติเหตุการเมืองแบบคาดไม่ถึง
ตอกย้ำภาพชัด จากกระแสชื่อนายกฯ สำรอง ทั้งท่าทีหัวหน้าบางพรรค ที่ถึงขั้นประกาศ “พร้อมเป็นนายกฯ” หรือ กระแสบิ๊กดีลในการเสนอชื่อ “คนนอก”เพื่อขึ้นแท่นเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนี้!!