เกม"สูตรเลือกตั้ง"ยังไม่จบ ลุ้นพลิก"บัตรสองใบ-ใบเดียว"

เกม"สูตรเลือกตั้ง"ยังไม่จบ ลุ้นพลิก"บัตรสองใบ-ใบเดียว"

บรรทัดสุดท้ายของ “3 ป.” ย่อมไม่เสี่ยงลงสนามเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าตัวเองตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งให้ “คู่แข่ง-คู่แค้น”

ม้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 จะใช้วิธีแพ้ฟาวล์ โดนตีตกตามเทคนิคทางกฎหมาย เพราะไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามกรอบเวลา 180 วัน ทำให้ต้องกลับหลังหันไปใช้สูตรหาร 100 ตามร่างของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จัดให้

สถานการณ์เวลานี้ ยังการันตีไม่ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะใช้สูตรหาร 100 แน่นอนแล้ว เนื่องจากยังมีด่าน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ต้องลุ้นกันอีกยก โดย “หมอระวี” มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมรวบรวมเสียงสมาชิกรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

ชอตแรกต้องรอลุ้นว่า “หมอระวี” จะสามารถรวมรวบรายชื่อทั้ง ส.ส.-ส.ว.ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างต่ำที่ 75 คน หรือร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ 

ชอตสองต้องจับตาว่า รายชื่อสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อ มาจากสายไหน ระหว่างสาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือสาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ท่ามกลางกระแสข่าวที่พลิกอีกตลบว่า “3 ป.” อาจจะหวนกลับไปใช้สูตร “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” เหมือนปี 2562  เพราะบัตรเลือกตั้งสองใบ ไม่ว่าจะใช้สูตรใดคำนวณ ก็ไม่เอื้อต่อ “พรรค 3 ป.” แตกต่างจาก “บัตรใบเดียว” ที่แก้สมการการเมือง ส่ง “3 ป.” ครองอำนาจต่อได้

เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเราแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่เคยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตั้งไข่ เพียงแต่ต้องยอมคล้อยตาม “พรรคร่วมรัฐบาล” เพราะมีการหาเสียงเป็นนโยบายพรรคเอาไว้ว่า หากเข้ามามีอำนาจรัฐ จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญต้องยอมรับว่า กระแสนิยมในตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” และ “พลังประชารัฐ” ลดลงเยอะ สะท้อนผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. “ขั้วรัฐบาล” พ่ายยับเยิน 

แถมล่าสุดผลการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ “เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล” จากเพื่อไทย ยังพลิกชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ได้ 249,093 คะแนน ทิ้งห่าง “ชานุวัฒน์ วรามิตร” เกือบแสนแต้ม ที่ได้ 150,443 คะแนน 

รวมถึงผลเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีตำบลด่านสำโรง “ไพศาล วีรชาติวัฒนา” จากคณะก้าวหน้า ได้ 12,521 คะแนน เอาชนะ “ภรภัทร พูลเจริญ” ตัวแทนบ้านใหญ่ปากน้ำ ที่ได้ 10,171 คะแนน

เมื่อผลการเลือกตั้งซ่อม-เลือกตั้งท้องถิ่นในหลายครั้งที่ผ่านมา เครือข่ายของ “3 ป. - พลังประชารัฐ” พ่ายตรงข้ามหลายสนาม การเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า “3 ป. - พลังประชารัฐ – พรรคเครือข่าย” ย่อมไม่เสี่ยงกับกติกา "บัตรสองใบ-หาร 100" ทั้งที่รู้ว่าโอกาสแพ้แบบแลนด์สไลด์มีสูง

ในวงลับ “พล.อ.ประยุทธ์” มักจะแสดงเจตนารมณ์กับคนใกล้ตัวว่า กำลังหาหนทางกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” มาโดยตลอด เพียงแต่จะหาวิธีการใด ให้เกิดความชอบธรรมมากที่สุด ฉะนั้นเมื่อการพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้งของรัฐสภาเกิดปัญหา มีการล่มการประชุมร่วมส.ส.-ส.ว.เพื่อตีตกสูตรหาร 500 ทุกอย่างจึงเข้าทาง “3 ป.”

แม้จะมีรอยร้าวเกิดขึ้นในเครือข่ายอำนาจของ “3 ป.” อยู่บ้าง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน เครือข่ายอำนาจทั้งหมดพร้อมเดินเกมตามที่ “3 ป.” กำหนด

แม้ “ลูกพรรคพปชร.” จะแฮปปี้กับบัตรเลือกตั้งสองใบ หาร 100 เนื่องจากในหลายพื้นที่ตัวผู้สมัครไม่ต้องเอาตัวเองไปผูกกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งกระแสตกฮวบฮาบ แต่ในบางพื้นที่ตัวผู้สมัครไม่ได้แข็งแกร่งมาก จึงต้องอาศัยชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในการเก็บแต้ม

ดังนั้น จึงต้องจับตา “3 ป.” ในฐานะผู้กำหนดเกม จะเลือกเดินหมากอย่างไร เพราะเวลาที่เหลือของเทอมรัฐบาล ยังเพียงพอให้แก้รัฐธรรมนูญอีกรอบ เพื่อพลิกมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

เพราะหากถูกเสนอเป็นวาระเร่งด่วน การพิจารณาอาจจะติดสปีดเร็วขึ้นได้ โดยสมัยประชุมปัจจุบัน ( 22 พ.ค. - 18 ก.ย.2565) สมัยประจำปี ครั้งที่สอง พ.ย.2565 ถึง ก.พ.2566 และอาจมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ

เมื่อไล่ไทม์ไลน์ จะเห็นขั้นตอนได้ดังนี้ ขั้นตอนแรก เสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้าสู่การตรวจสอบญัตติโดย ส.ส. ประมาณ 1 สัปดาห์ หากเป็นร่างประชาชนจะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้อง 3 เดือน 

จากนั้นบรรจุวาระนัดประชุมล่วงหน้า ซึ่งสามารถทำได้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งวาระปกติต้องรอ 1 สัปดาห์ ก่อนพิจารณาลงมติ “รับหลักการวาระแรก” ซึ่งมีเงื่อนไข ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง

ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเนื้อหา ซึ่งสามารถเร่งรัดดำเนินการ เร็วที่สุด 3-4 สัปดาห์ โดยเสนอพิจารณ “วาระสอง” ซึ่งเนื้อหาไม่มาก เพียง 1-2 วันแล้วเสร็จ

รอไว้ 15 วัน ก่อนจะมาโหวต “วาระสาม” หากไม่มีการเสนอแปรญัตติจะสามารถร่นระยะเวลาลงมาได้อีก โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ต้องเห็นชอบด้วย 20% ซึ่งก็ไม่ยาก หากใช้เสียง ส.ส.งูเห่า ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จำนวนหนึ่งที่พอจะโหวตให้เข้าหลักเกณฑ์ตรงนี้ได้ รวมกับ ส.ว. 84 เสียง

จากนั้นรอไว้ 15 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนี้ ส.ส. และส.ว.สามารถเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งมีกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จ 30 วัน ขั้นตอนนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับศาล

รวมทุกขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเร่งรัด จะใช้เวลาประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน แต่หากไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

อีกทั้ง “ขั้วรัฐบาล” ที่กุมเสียงข้างมาก มีโอกาสที่จะขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย

ดังนั้นหาก “3 ป.” จะหวนกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” เพื่อกุมความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยังมีเวลามากพอที่จะสามารถดำเนินการได้

เพราะบรรทัดสุดท้ายของ “3 ป.” ย่อมไม่เสี่ยงลงสนามเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าตัวเองตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งให้ “คู่แข่ง-คู่แค้น”