“นิกร” ยัน “ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หลัง 77ส.ว.ยื่นตีความ
“นิกร” ชี้ “สมเจตน์” รวม 77 ส.ว. ยื่น ตีความกฎหมายพรรคการเมืองเป็นสิทธิ ยัน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณา รัฐสภา-กกต. แล้ว แจง ส่งเสริม ปชช. สมัครเป็นสมาชิกพรรค มีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งคัดตัวผู้สมัครส.ส.-เสนอนโยบาย ย้อน ถ้าร่างนี้ผิด ฉบับที่เคยแก้โดย “คสช.” ก็ผิดเหมือนกัน
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ฉบับที่) พ.ศ. ... กล่าวถึงกรณี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา พร้อมส.ว.รวม 77 คนยื่นขอให้ประธานรัฐสภา ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่) พ.ศ. ... ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเห็นว่ามีข้อความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 , 148(1) ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 ข้อ 104 ว่าเป็นการใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่ง และที่สำคัญพล.อ.สมเจตน์ เป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณากฏหมายพรรคการเมืองเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบันแล้วได้ถูกปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปกป้องกฏหมายที่ พล.อ.สมเจตน์ รับผิดชอบได้อย่างชอบธรรม ส่วนตนในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขกฏหมายฉบับใหม่นี้ก็มีสิทธิอันชอบธรรมเช่นกันที่จะชี้แจง โดยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาทั้งของที่ประชุมเสียงข้างมากของรัฐสภาและที่ประชุมเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
นายนิกร กล่าวว่า สำหรับประเด็นการแก้ไขค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองทั้งประเภทรายปีจากหนึ่งร้อยบาทเป็นยี่สิบบาท และประเภทตลอดชีวิตจากสองพันบาทเป็นสองร้อยบาทนั้น เป็นการยังคงยืนยันหลักการในการเก็บค่าใช้จ่ายจากสมาชิกพรรคไว้ไม่ได้ตัดออกไปเลย เพียงแต่ได้ลดอัตราลงเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่มีรายได้น้อยและที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ มากขึ้น จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์
ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในส่วนประเด็นการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เป็นการแก้ไขเพื่อการผ่อนคลายให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจากเดิมที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้สูงเท่ากับการเป็นเข้าเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งมากเกินไปสำหรับประชาชนทั่วไป โดยแก้ไขเพียงยินยอมให้ประชาชนผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้ทำความผิดฐานทุจริตในเรื่องต่างๆ ที่บัญญัติไว้หากไม่ถึงขั้นถูกจำคุกก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ต้องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงอื่นที่ยังคงเอาไว้ตามเดิม
นายนิกร กล่าวว่า ประเด็นแก้ไขให้ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน พรรคการเมืองนั้นอาจแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น และให้นำความในมาตรา 34 มาบังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดด้วยโดยอนุโลม กรณีนี้เป็นการแก้ไขบทบัญญัติเดิมที่กำหนดบังคับให้ในทุกเขตเลือกตั้งต้องมีการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองขึ้นนั้น เห็นว่าตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นมีหน้าที่หลักคือการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การประสานสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปทั้งจังหวัดซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะสมาชิกพรรคของตนเฉพาะเวลาช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น และการดำเนินการตามบทบัญญัติเดิมก็มีพิสูจน์แล้วว่ามีเป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นจริงตามที่หลักการกำหนดไว้และมีปัญหาในเชิงปฏิบัติเป็นอย่างมากทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งในการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบนี้ที่ประกาศใช้แล้ว คสช. ต้องออกคำสั่งที่53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน เพราะเหตุที่ว่ากำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองไว้เคร่งครัดจนเกินไป
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนประเด็นการแก้ไขที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด เพียงมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดนั้นดำเนินการประชุมแล้วมีมติให้ความเห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต โดยไม่ต้องมีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น ยังคงหลักการในเรื่องการให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเปิดกว้างให้สมาชิกภายในจังหวัดนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการพิจารณาสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้นได้ทั้งจังหวัด มิได้จำกัดแต่เฉพาะในเขตเลือกตั้งดังเช่นที่บัญญัติในกฎหมายฉบับปัจจุบัน
ขณะที่ประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับวิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเบื้องต้น หรือ ไพมารี่ที่กำหนดให้การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ โดยให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความเห็นและให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา แล้วส่งให้ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเสนอเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังคงหลักการในเรื่องการเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเรื่องการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายนิกร กล่าวว่า ฉะนั้น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาทั้งของที่ประชุมเสียงข้างมากของรัฐสภาและที่ประชุมเสียงข้างมากของกกต.ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยังคงหลักการในเรื่องสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองในการ มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และยังคงหลักการในเรื่องการเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ
นายนิกร กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ยังคงหลักการเดิมของกฎหมายฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักการสำคัญในเรื่องของสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองในการมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 การที่มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน