"รัฐบาล" รอ ประเมิน ก่อนเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" คาด "โควิด" จ่อ คล้ายไข้หวัดใหญ่
"โฆษกรัฐบาล" เผย "ศบค." ล่าสุด ยังไม่ถก ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ชี้ ประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เหตุ ยังเหลือเวลาประกาศใช้ถึง ก.ย.นี้ รอถกนัดถัดไป โว แนวทางนี้นานาชาติ ชื่นชม สนใจศึกษาจากไทยด้วยซ้ำ คาด จากนี้โควิด จะคล้ายไข้หวัดใหญ่
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ยังไม่ได้มีการพิจารณา การยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อนเนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินนั้นก็เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งหวังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประเด็นอื่นแต่อย่างใด รวมทั้งเพื่อเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยจากโควิด-19 โดย การดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ซึ่งสนใจที่จะมาศึกษาแนวทางการดำเนินงานจากประเทศไทยด้วยซ้ำไป
นายอนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้มีการหารือเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ที่ประชุม ศบค. ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลา ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post – Pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 หรือเป็นแผนการปรับลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ภายใต้หลักการ “เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย" สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ” โดย ศบค. ได้พิจารณาทั้งการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ด้านการป้องกัน ซึ่งภาพรวมประชาชนในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็มไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 และหลังจากนี้ คาดการณ์ว่าโควิด-19 จะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรซึ่งจะคล้ายคลึงกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งด้านการรักษาอาการผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่แนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรงและกลุ่ม 608
“ก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์ และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง ว่าจะต้องคงกลไกในการควบคุมและบริหารจัดการอะไรไว้บ้าง ซึ่งต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตและความเสียหายในมิติต่างๆ เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นต้องแก้ไขได้ทันท่วงที เน้นมีแผนรองรับที่ดี และวิกฤติความเสียหายต้องไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น จึงขอให้รอผลการประชุม ศบค. ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้” นายอนุชา กล่าว