อนาคต “รัฐบาลประยุทธ์” “3 ป.”วนเวียนเปลี่ยนตัวเล่น
เมื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ "นายกรัฐมนตรี" เป็นจังหวะเปลี่ยนมือ ให้"ประวิตร" ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ คุมอำนาจในเครือข่าย3ป. แทนชั่วคราว โอกาสนี้อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง
กลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ถูกบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ ประธานสภาฯ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า ด้วยการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหรือไม่
พ่วงมติข้างมาก 5:4 ออกคำสั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย "คมชัดลึกออนไลน์” ได้สัมภาษณ์นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ในมุมมองที่เกี่ยวโยงกับอนาคตรัฐบาล “ประยุทธ์” หลังศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะกฎหมายเปิดช่องชัดเจนว่า เมื่อรับคำร้องแล้ว หากมีเหตุกรณีที่ควรสงสัย เข้ากรณีตามคำร้อง ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนมีคำวินิจฉัยได้
“ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดการณ์ผลว่า จะออกมา 50 ต่อ 50 เพราะตำเแหน่งเบอร์หนึ่งรัฐบาลไทย นายกฯ ผู้ที่จะชี้ทิศทางในการเคลื่อนตัวของประทศ ดังนั้นไม่ง่าย การทำงานในศาล แต่ละคนไม่มีการสมคบกัน ออกเสียงตัดสินกันในที่ประชุม ในทางปฏิบัติและทางคดีนั้นไม่มีการคุยกันล่วงหน้า”
อย่างไรก็ตาม เมื่อให้มองถึงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องมีกรอบหรือไม่ “ศ.พิเศษ จรัญ" มองว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เพราะเป็นปัญหาในคดี ไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง รมว.กลาโหม และไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่อื่น
“ดังนั้นจึงปฏิบัติหน้าที่ฐานะ รมว.กลาโหมต่อไปได้ ส่วนการใช้อำนาจนายกฯ นั้นไม่ได้ เพราะต้องอยู่ในความรับผิดชอบของ รองนายกรัฐมนตรี คนที่หนึ่ง ที่ทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยตามการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน”
สั่ง“หยุด”นัยถึงผลของคดีลางๆ
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ จรัญ มองไปถึงผลคำวินิจฉัยชี้ขาดปมดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ด้วยว่า เมื่อมีคำสั่งชั่วคราวให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีนัยถึงผลของคดีลางๆ แม้ไม่ใช่ 100% แต่มีความชัดเบื้องต้นว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ มีเหตุอันควรสงสัยจึงหยุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายตามมาหากอยู่ต่อไป
“คล้ายบอกว่า ท่านเพ่งเล็งจุดแรก 24 สิงหาคม เป็นจุดตัดสินแรก ส่วนตัวมองแนวโน้มว่า 60 ต่อ 40 นั่นคือ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะครบ 8 ปี ต่อยังอยู่ในวาระต่อได้ โดยเริ่มนับเมื่อปี 2560 ระยะเวลาการวินิจฉัยเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยที่จะทำให้เร็ว ไม่เยิ่นเย้อ เพราะไม่มีประโยชน์ เห็นด้วยที่จะวินิจฉัยในกรอบเดือนกันยายน อย่างช้าเดือนตุลาคม”
ศ.พิเศษ จรัญ มองอีกว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว ต้องแจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ซึ่งอยู่ในกรอบเดือนกันยายน และในขณะเดียยวกันอาจร้องขอต่อสภาฯ ให้ขอสำเนาบันทึกการประชุมกรธ. และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาพิจารณาประกอบ หลังจากอ่านเอกสารทุกอย่างแล้ว หากอยากฟังใครก็ฟัง แต่หากตกผลึกแล้วไม่ต้องฟัง ซึ่งระยะเวลาอาจอยู่ในปลายเดือนกันยายน
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูย กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมทายใจ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูก ไม่รู้ว่าในใจมองอย่างไร ที่ผ่านมาซึ่งคาดการณ์และคุยกันนั้นเพื่อให้ประชาชนตามเรื่องและมองหลักคิดของแต่ละฝ่าย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นหลักคิดของตุลาการนั้นต้องสงวนท่าทีไว้"
“ประยุทธ์”มั่นใจ-หวังศาลชี้ขาดเร็ว
ขณะเดียวกัน “สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยอมรับว่า ที่คาดการณ์คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง แต่ไม่คิดว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝาพิง เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยบอกว่าจะหยุด หรือไม่ เพราะต้องรอฟังคำสั่งศาล เมื่อไปไม่ได้ เพราะศาลให้หยุด จึงหยุด ดังนั้นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการมากที่สุดคือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว วันนี้ พรุ่งนี้ด้วยซ้ำ
“ผมมองว่า นายกฯ มีความเชื่อว่า ตัวเองยังไม่ครบ 8 ปี จึงให้ศาลชี้ขาด แต่ในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์นั้น ครบ 8 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมองว่า ประเด็นที่ศาลตัดสินแบบนั้น ส่วนหนึ่งเพราะกระแส ส่วนอนาคตทางการเมืองจากนี้ เชื่อว่า พรรคพลังประชารัฐ จะกลับมาแข็งแกร่ง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ สมควรหัวเดียวกระเทียมลีบแล้ว เพราะอยู่มา 8 ปีแล้ว”
จังหวะ“ประวิตร”ต้องคุมเกม
ด้าน “ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า มติศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหมือนเกมผ่อนคันเร่ง และมองว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ คือให้ศาลแบคอัพให้กลับมาใหม่ อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่ พล.อ.ประวิตร นั่งรักษาการนายกฯ มองว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวของ 3 ป.นั้นไม่แตกแยก หากน้องเข้าใจในตัวพี่ ต้องไม่โกรธกัน
“ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่พี่ต้องเล่น และเป็นคนจัดการสถานการณ์ ก่อนที่จะมีวันนี้ มีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง เมื่อ พล.อ.ประวิตร ขึ้นนั่งรักษาการนายกฯ บ้านป่ารอยต่ออาจมีความเคลื่อนไหวมาก อย่าลืมว่าโผทหาร และโผตำรวจยังไม่ออก ดังนั้น มีรายละเอียดที่รักษากการนายกฯ สามารถจัดความสัมพันธ์ได้อีก ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ทำให้เห็นแล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ทั้ง กฎหมายงบประมาณ กฎหมายลูก” นักวิชาการรัฐศาสตร์ระบุ
หากมีอุบัติเหตุ “พี่ใหญ่นอนมา”
อย่างไรก็ตาม เมื่อให้มองต่อการทำหน้าที่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม “ธนพร” บอกว่า ไม่เป็นผลดีแน่นอน เพราะกระทรวงกลาโหมมี รมช. ทำหน้าที่ได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังทำหน้าที่จะไม่เป็นผลดี และควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดโดยเร็ว เพราะมองว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะรักพล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ 3 ป.ขนาดไหน แต่พี่ไม่ใช่ตนเอง ยังมีแนวทางและเงื่อนไขที่ต่างออกไป
ทั้ง “สุขุม-ธนพร” ฟันธงตรงกันว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ไปต่อ พล.อ.ประวิตรคือนายกฯ คนนอกที่รัฐสภาจะเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แบบนอนมาแน่นอน.