“จรัญ” ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเชื่อ 60% “ประยุทธ์” ไม่รอดคดีนายกฯ 8 ปี
“จรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาล รธน.ยกหลักการดุลยภาพระหว่างประโยชน์ -โทษ ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเชื่อ 60% “ประยุทธ์” ไม่รอดปมนายกฯ 8 ปี หลังโดนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงแนวทางในการพิจารณาคำร้องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ว่า จากประสบการณ์ในวิชาชีพกฎหมาย เป็นที่รู้กันเลยว่าวิธีการชั่วคราวเป็นวิธีหนึ่งในการ Test (ทดลอง) ผลคดีใหญ่ เมื่อวิธีการชั่วคราวไปได้ผล คดีใหญ่ก็พอที่จะมีความหวังมากขึ้น เพราะเวลาศาลรัฐธรรมนูญวิเคราะห์ว่า จะให้วิธีชั่วคราวหรือไม่นั้น ต้องใช้หลายจุด
- จุดแรก ต้องดูน้ำหนักของคดี ถ้าคดีไม่มีความหวังเลย ไม่มีทางที่จะให้วิธีชั่วคราว
- จุดที่สอง ถ้าคดีเป็นความหวังที่จะเป็นไปในทิศทางอย่างนั้น จะต้องดู Balance of Convenience หรือดุลยภาพระหว่างประโยชน์ หรือโทษของการที่จะให้วิธีชั่วคราวด้วย
โดยนายจรัญ เชื่อว่า เรื่องนี้คิดว่าน้ำหนักของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะอยู่ที่ Balance of Convenience
“แม้เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นผลคดีใหญ่มากมายนัก แต่ดุลยภาพระหว่างประโยชน์ หรือโทษของการที่จะให้วิธีชั่วคราวมีผลอยู่ดี ดังนั้นจากการประเมินผลจากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหลักวิชาอะไร คิดว่าประเมินน้ำหนักคดีนี้ที่ 60 ต่อ 40” นายจรัญ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการ ถามว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีชั่วคราว เช่น การสั่งพักงาน พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นคำสั่งจากเงื่อนไขประการเดียว ประเด็นที่ฟ้องร้องมันมีน้ำหนักอย่างนั้นใช่หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ไม่ใช่ประการเดียว แต่สองประการหลัก น้ำหนักของคดีก็คือ หนึ่ง แต่ยังมีดุลยภาพระหว่างประโยชน์ และโทษของการให้ใช้วิธีชั่วคราวด้วยว่า ทางไหนจะมากกว่า
เมื่อถามว่า ถ้าถอดเป็นภาษาง่ายๆ ศาลต้องมานั่งสังเคราะห์ดูว่า พักงาน พล.อ.ประยุทธ์ ชั่วคราว จะมีคุณูปการกับสถานการณ์ของประเทศหรือไม่ถูกไหม นายจรัญ กล่าวว่า “ใช่ครับ ในระดับหนึ่ง 60 ซึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับหลักวิชาการ”
เมื่อถามว่า คำสั่งของศาลสะท้อนผลแห่งคดี 60% แบบนี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พักงานถาวร น่าจะส่งผลคุณูปการของบ้านเมืองมากกว่าใช่หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ไปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเวลาดู Balance of Convenience เขาจะดู ณ เหตุการณ์สถานการณ์ขนาดนั้น ไปจนกว่าจะถึงวันชี้ขาดว่า ถ้าช่วงนี้ให้พักปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว มันจะเกิดคุณหรือโทษมากน้อยอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามันจะเกิดประโยชน์ในช่วงนี้มากกว่าแล้วตอนวินิจฉัยก็ต้องจะให้แบบนี้ตลอดไปก็ไม่ใช่ เพราะเวลาวินิจฉัยต้องใช้หลักอีกระบบหนึ่งคือ ระบบในคดีใหญ่นั้นๆ
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าวันที่ 24 ส.ค.2565 ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลากไปถึงตัดสินคดีจริงๆ ถ้าบ้านเมืองเย็นลง คลายล็อก เด้งออกจากทางตันได้ มันจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ถ้าเราใช้หลักคิดแบบนี้ เท่ากับไปยุให้ทางการเมือง ลุกกระหน่ำ ปั่นป่วนกันยิ่งขึ้นซิ ไม่อยากให้ใช้หลักคิดนี้ เชื่อมั่นว่าฝ่ายการเมืองระมัดระวังผลประโยชน์ของประเทศอยู่ จะต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศเช่นเดียวกัน หรือมากกว่าพวกเราด้วย
ฟังรายละเอียดได้ที่นี่ : https://web.facebook.com/watch/?v=479986863604325
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์