เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ”

เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ”

“บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ เจ้าของฉายา แหวนมารดา นาฬิกายืมเพื่อน กับเก้าอี้ “รักษาการนายกฯ” ท่ามกลางวิกฤติประเทศ

ผ่านมาแล้วสำหรับการปรับให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ขึ้นเป็น “รักษาการนายกรัฐมนตรี” คนล่าสุด ภายหลังเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าศาลจะวินิจฉัยในวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี

เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี

หลายคนรู้กันดีว่า “บิ๊กป้อม” ผู้มากบารมีทางการทหารและทางการเมือง เจ้าของตำแหน่ง “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” และตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กำลังถูกจับตามองทุกฝีเก้าว่า จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกผู้นำประเทศ หากเกิดอุบัติเหตุกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาย้อนไปทำความรู้จักกับเส้นทางชีวิตของ “บิ๊กป้อม” ตั้งแต่ยุคสมัยเป็นนายทหารหนุ่ม จนถึงการเข้ามาในเส้นทางการเมืองขณะนี้

  • ชีวิตลูกชายนายทหาร

ด.ช.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีชื่อเล่นว่า "ป้อม" เกิดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2488 เป็นชาวกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด เป็นลูกชายคนโตของ พล.ต.ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ และนางสายสนี วงษ์สุวรรณ มีน้องชาย 4 คน ได้แก่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ (ตำแหน่งปัจจุบัน), พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ตำแหน่งปัจจุบัน), พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมทีโอที และ พันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ

"ด.ช.ประวิตร" จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นในปี 2508 ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 และศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 สำเร็จการศึกษาในปี 2512 ต่อมาในปี 2521 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 56 และในปี 2540 สำเร็จหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 40 เมื่อปี 2556

จากประวัติการศึกษาทั้งหมดเห็นได้ว่า "บิ๊กป้อม" ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวทหารอย่างดี โดยที่น้องชาย 3 ใน 4 คน ก็รับราชการอยู่ในแวดวงทหารและตำรวจเช่นเดียวกัน

เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ”

ภาพครอบครัววงษ์สุวรรณ

  • พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี

หลังจากเรียนจบทางด้านการทหาร "ประวิตร" เดินทางเข้าสู่วงการทหารอย่างเต็มตัว และได้ว่าเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1 ทางภาคตะวันออกมาตลอด โดยสังกัดกับกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือที่รู้จักกันในนาม "ทหารเสือราชินี"

พล.อ.ประวิตร ถือได้ว่าเป็นนายทหารรุ่นพี่ที่สนิทสนมกับนายทหารอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สองนาย คือ "บิ๊กป๊อก" พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ "บิ๊กตู่" พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทั้ง “พี่น้อง 3 ป.” มีสายสัมพันธ์แนบแน่นทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องหน้าที่การงาน

เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ” ภาพ พี่น้อง 3 ป. จากซ้ายไปขวา พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงศ์ และ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกันเส้นทางรับราชการของ "ประวิตร" ได้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารบก ระหว่างวันที่ 1 เดือนตุลาคม 2547 ถึง 30 กันยายน 2548 ในรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร"

เมื่อเกษียณอายุราชการ "บิ๊กป้อม" ได้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ช่วงเดือนตุลาคม 2549 - 22 ธันวาคม 2550 ก่อนก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในปี 2551 และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ประจำกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 98/2552

ซึ่งตำแหน่ง "รมว.กลาโหม" ถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งสูงสุดของทหาร เพราะมีอำนาจในการทำโผแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการทหารทั้งหมด ก่อนจะส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

นอกจากนี้ "บิ๊กป้อม" ยังเป็น "พี่ใหญ่" ที่มากบารมีและได้รับความเคารพรักของกลุ่มทหาร "บูรพาพยัคฆ์" อีกมากมาย ซึ่งความยิ่งใหญ่ของทหารสายบูรพาพยัคฆ์นั้นไม่แพ้ทหาร "สายวงศ์เทวัญ" ที่เติบโตควบคู่กันมา

"บูรพาพยัคฆ์" เดิมเป็นฉายานามของหน่วยกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ที่สัญลักษณ์ของหน่วยมีคำว่า "บูรพาพยัคฆ์" อยู่ใต้รูปเสือกับดาบ เนื่องจากในสมัยก่อน "ผบ.ร.2 รอ." จะเป็น ผบ.กองกำลังบูรพารับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีสถานการณ์การรบกับเขมร (เวียดนามสนับสนุน) ที่รุนแรง เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์ ได้ต่อสู้อย่างห้าวหาญ ดุเดือด เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ

ยุทธการที่ทำให้เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์จดจำไม่ลืม คือ ยุทธการบ้านโนนหมากมุ่น เมื่อปี 2523 และต่อมาก็ได้ขยายรวมไปถึงใช้เรียกกลุ่มทหาร "ผบ.ร.2 รอ." ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 และปี 2557 รวมทั้งยังถือเป็นขั้วอำนาจสำคัญทางฝ่ายทหารที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลในระหว่างการรัฐประหารทั้งสองครั้ง

เส้นทาง “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก่อนผงาดนั่ง “รักษาการนายกฯ” สัญลักษณ์ของบูรพาพยัคฆ์

  • จากผู้มากบารมีทางทหารสู่ผู้มากบารมีทางการเมือง

จนในที่สุดวันที่ "บิ๊กป้อม" เข้ามามีบทบาททางต่อสถานการณ์สำคัญในชาติ โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จนกลายเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ของไทย นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น และมีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ

โดย "บิ๊กป้อม" ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษา เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และยังเป็นประธานคณะกรรมการอีกกว่า 50 คณะ ก่อนจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายครั้งและ "บิ๊กป้อม" ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ คนที่หนึ่ง เพียงตำแหน่งเดียว ในครม. ส่วนกระทรวงกลาโหมอยู่ในกำกับของ "บิ๊กตู่" โดยควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย

ขณะที่ในทางพรรคการเมือง "บิ๊กป้อม" มีอำนาจเต็มในการควบคุมพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าพรรคอยู่เหมือนเดิม

แต่แล้วถึงจุดพลิกผัน เมื่อ "บิ๊กป้อม" ได้กลับมามีอำนาจในตำแหน่ง "รักษาการนายกรัฐมนตรี" เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

ทำให้หลังจากนี้เป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน ต้องรอคำตัดสินของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาไปที่ทิศทางการเมืองและรัฐบาลในมือของ "บิ๊กป้อม" จะมีทิศทางอย่างไร ท่ามกลางวิกฤติประเทศชาติที่กำลังเผชิญ ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด วิกฤติพลังงาน วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง ที่สำคัญหนีไม่พ้น “วิกฤติศรัทธาประชาชน”