"วุฒิสภา" เริ่มถกร่างกม.งบฯ66 แล้ว ห่วง "อปท." ได้งบน้อย แต่พบเงินนอกงบฯสูง

"วุฒิสภา" เริ่มถกร่างกม.งบฯ66 แล้ว ห่วง "อปท." ได้งบน้อย แต่พบเงินนอกงบฯสูง

วุฒิสภา เปิดประชุม ถกงบฯ66 แล้ว "กมธ.ศึกษางบฯ66" ห่วง "ท้องถิ่น-จังหวัด" ได้งบน้อย แนะให้รัฐเน้นการกระจายอำนาจ-การหารายได้ พร้อมพบหลายหน่วยงานซุกงบนอกงบประมาณสูง แนะ ก.คลังตรวจสอบ

           เมื่อเวลา 09.30 น. การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท  ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ 23 สิงหาคม ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาเห็นชอบภายใน  20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ. คือวันที่ 24 สิงหาคม โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ฐานะตัวแทนของคณะรัฐมนตรีเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา

 

           โดยนายอาคม กล่าวกับที่ประชุมวุฒิสภา ว่า ยืนยันการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยรับงบประมาสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐบาลขอขอบคุณวุฒิสภา ที่จะพิจารณาและพร้อมขอรับข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ พร้อมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงให้การจัดสรรงบประมาณคุ้มค่าเป้นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างยั่งยืน

 

           จากนั้นเป็นการชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 66 วุฒิสภา โดย พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ฐานะประธานกมธ.ฯ อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณลงจังหวัดนั้นต่ำกว่ากรอบ  ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ เพิ่มกระจายอำนาจในการจัดสรรงบเชิงพื้นที่ตามความต้องการของจังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดเพื่อลดความซ้ำซ้อน  ความเหลื่อมล้ำการกระจายงบลงสู่พื้นที่ สำหรับประมาณการรายรับที่จะส่งให้ท้องถิ่น รวมถึงรายได้ของท้องถิ่นคาดว่ามียอดต่ำกว่า 10%- 20% ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะ อปท.ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินสะสม

           “ยกเลิกกำหนดสัดส่วนจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ในงบลงทุน 70% แต่ควรพิจารณาลดเหลือ 30% ที่เหมาะสมกับความต้องการจังหวัด ขณะที่งบซ่อมถนน กระทรวงคมนาคมควรรับผิดชอบเสนอตามความต้องการจังหวัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น อาจมีปัญหาเรื่องบุคลากรทั้งการบริหารบุคลากรและงบประมาณ ดังนั้นควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม” พล.อ.ชาตอุดม กล่าว  

 

           พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า สำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรส่วนราชการที่พบว่ามียอดเพิ่มขึ้นทุกปี กมธ.จึงมีข้อเสนออัตรากำลังภาครัฐ ด้วยการทบทวนบทบาท กรอบอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 

           ขณะที่ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฎ ส.ว. ฐานะกมธ.รายงานผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า สาระโดยสรุปว่า โครงการสำคัญที่หน่วยรับงบประมาณขออนุมัติจาก ครม. หลายโครงการ ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งนี้พบว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ทำให้ไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายเงินของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้  ดังนั้นการแก้ไขควรมีหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและมติ ครม. 

 

           "แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ คลาดเคลื่อนจากรางานการเงินของหน่วยรับงบประมาณและมีเงินสะสมคงเหลือ เช่น องค์กรมหาชน องค์กรกำกับของรัฐมีเงินคงค้างจำนวนมาก และพบว่ามียยอดสะสมอของเงินนอกงบประมาณสูงถึง 2.8ล้านล้านบาท ดังนั้นสำนักงบประมาณต้องเคร่งครัดนำข้อมูลนอกงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ถูกต้องประกอบการพิจารณาต่อสภา เพื่อให้รักษากรอบการเงินการคลังของรัฐตามกฎหมาย” พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าว

 

           พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวด้วยว่าสำหรบความคืบหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ที่จะสิ้นสุดการเบิกจ่ายในวันที่ 30 กันยายน  65 พบว่าหลายโครงการต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และจะ เร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 

 

 

           ขณะที่การอภิปรายของส.ว. นั้น เบื้องต้นมีส.ว. ลงชื่ออภิปราย รวม 19 คน โดยนายพรเพชร กำหนดให้อภิปรายเรียงตามลำดับมาตรา คนละ 10 นาที ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า ส.ว.ที่แจ้งขออภิปรายนั้น ส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายภาพรวมของงบประมาณปี 2566 และหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงองค์กรอิสระ แต่ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดที่อภิปรายในงบของกระทรวงกลาโหม, งบกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดีอีเอส.