ป.ป.ช.สอบสนามกีฬา กกท.สมุทรปราการ 188 ล้าน ถูกทิ้งร้าง-อัฒจันทร์ไร้เก้าอี้
ป.ป.ช.ลงพื้นที่ลุยสอบ 3 โครงการ กกท. ได้รับงบอุดหนุน อบจ.สมุทรปราการ ก่อสร้างสนามกีฬา 188 ล้านบาท พบถูกปล่อยทิ้งร้าง สร้างไม่เป็นไปตามแบบ อัฒจันทร์ไร้เก้าอี้ แต่เบิกจ่ายเงินไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการลงพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายบดินทร์ กรีธาธร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่เคหะเมืองใหม่บางพลี อำเภอบางเสาธง และตำบลบางปลาอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ
โดยการลงพื้นที่ดังกล่าว เกิดขึ้นจากประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) เพจ “ต้องแฉ” และศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่เคหะเมืองใหม่บางพลี และตำบลบางปลา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ (กกท. จังหวัดสมุทรปราการ) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุน(งบอุดหนุน) จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2559 เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬารวมถึงการจัดฝึกอบรม แต่พบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบ มีความล่าช้าในการก่อสร้าง และขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
- โครงการก่อสร้างสระว่ายน้ำ อาคารประกอบและปรับปรุงสนามเทนนิส
- โครงการก่อสร้างโรงยิมเนเซียมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (เคหะเมืองใหม่บางพลี)
- โครงการปรับปรุงสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (ตำบลบางปลา)
รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 188,570,000 บาท
จากการลงพื้นที่ TaC Team โดยมี นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แทน กกท. จังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ พบข้อเท็จจริงดังนี้
1. โครงการก่อสร้างสระว่ายน้ำ อาคารประกอบ และปรับปรุงสนามเทนนิส และโครงการก่อสร้างโรงยิมเนเซียมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ในพื้นที่เคหะเมืองใหม่บางพลีในความรับผิดชอบของสำนักงานการเคหะจังหวัดสมุทรปราการ สาขา 2 โดยโครงการก่อสร้างทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางที่กำหนดไว้ให้ประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่การเคหะฯ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการเคหะฯ ได้ขอความร่วมมือจาก กกท. สมุทรปราการ ในการร่วมพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กีฬา และได้มอบให้ กกท. สมุทรปราการ ดูแลพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2528 ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กกท. สมุทรปราการ ได้ขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ. สมุทรปราการ โดยไม่ผ่านหน่วยงานส่วนกลาง และได้รับงบประมาณมาดำเนินการในปี 2558 (สระว่ายน้ำ อาคารประกอบ และสนามเทนนิส จำนวน 89,800,000 บาท) และปี 2559 (โรงยิมเนเซียม จำนวน 69,070,000 บาท) ในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างไม่ได้ใช้แบบแปลนมาตรฐานกลางของการกีฬาแห่งประเทศไทย และการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการพัสดุ จากการลงพื้นที่ TaC Team พบว่าสภาพพื้นที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากสระว่ายน้ำและสนามเทนนิสที่สร้างแล้วเสร็จไม่เป็นไปตามแบบ เช่น สระว่ายน้ำไม่สามารถใช้ได้ อัฒจันทร์ไม่มีเก้าอี้นั่งและสร้างไม่ครบจำนวนชั้น สนามเทนนิสกำหนดเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแต่สร้างเป็นพื้นแอสฟัลติก เป็นต้น ส่วนโรงยิมเนเซียมก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ปรากฎว่ามีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างครบแล้ว
2. โครงการปรับปรุงสนามฟุตบอลหญ้าเทียม สนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (ตำบลบางปลา) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งได้อนุญาตให้ อบจ. สมุทรปราการ ครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยพื้นที่สนามฟุตบอลดังกล่าวเดิมเป็นสนามหญ้าจริง ที่ อบจ. สมุทรปราการ มอบให้ กกท. สมุทรปราการ พัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นสนามกีฬาประจำจังหวัด โดยในปี 2559 กกท. สมุทรปราการ ได้รับเงินอุดหนุนจาก อบจ. สมุทรปราการ จำนวน 29,700,000 บาท มาดำเนินการปรับปรุงเป็นสนามหญ้าเทียม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการพัสดุ และถึงแม้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จแต่ปรากฎว่างานบางส่วนไม่เป็นไปตามแบบ เช่น คุณภาพของหญ้าเทียมต่ำกว่าที่กำหนด ทำให้คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างไม่ตรวจรับงาน และ กกท. สมุทรปราการ ยังไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า ได้แจ้งผู้รับจ้างให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ปัจจุบันสนามฟุตบอลปิดไว้ไม่ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์และสภาพสนามหญ้าเทียมและสิ่งก่อสร้างบางส่วนมีความทรุดโทรมเนื่องจากการไม่ได้ใช้งาน
3. ในส่วนประเด็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสองจุดตามความต้องการของประชาชน พบว่าปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลต่อคณะ TaC Team ว่าหน่วยงานได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่า อบจ. สมุทรปราการ จะมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะรับพื้นที่ไปดูแลและจัดสรรงบประมาณมาบูรณะเพื่อการใช้งานแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่า กกท. สมุทรปราการ จะจัดทำบัญชีทรัพย์สินและดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้ถูกต้อง
นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ นายบดินทร์ กรีธาธร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ นายบุญแท้ วงศ์กรนาวิน ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการ นางนิภาพร ทองหล่อ คลังจังหวัดสมุทรปราการ นางสาวรัชพร ตันมหาพราน เจ้าหน้าที่สอบสวนชำนาญการพิเศษ จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพลพัฒน์ ธีรานุตร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ นายพีระวัฒน์ มงคลศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ นายเลขวิทย์ สมสุข ผู้อำนวยการกองคดี จากสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย นางณัฐศศิรา บำรุงเขต เคหะจังหวัดสมุทรปราการ สาขา 2 นายธนวัฒน์ กล่ำพรหมราช รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นายศักดิ์ชัย เผือกศิริพิบูลย์ ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรปราการ และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้กำหนดข้อตกลงที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ฝ่ายกฎหมายการกีฬาแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการสอบวินัยและความรับผิดทางละเมิดกับผู้เกี่ยวข้อง โดยโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างครบแล้ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างสระว่ายน้ำ อาคารประกอบและปรับปรุงสนามเทนนิส และโครงการก่อสร้างโรงยิมเนเซียมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (เคหะเมืองใหม่บางพลี) ควรเคร่งครัดการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและกระบวนการตรวจรับงานให้มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถประเมินทรัพย์สินและจัดทำบัญชีส่งมอบให้กับ อบจ. สมุทรปราการ รับไปดูแลรักษาหรือจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ให้ประสานข้อมูลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมกันดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทุจริต
2. โครงการปรับปรุงสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ (ตำบลบางปลา) ซึ่งยังไม่ตรวจรับงานและจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้กับผู้รับจ้าง ให้ฝ่ายกฎหมายการกีฬาแห่งประเทศไทยเร่งรัดตรวจสอบ กกท. สมุทรปราการ ถึงความถูกต้องในกระบวนการบริหารสัญญา ซึ่งควรมีการแจ้งผู้รับจ้างให้เข้าแก้ไขงานให้ตรงตามแบบ หากผู้รับจ้างไม่ดำเนินการต้องมีการฟ้องให้ศาลสั่งเป็นผู้ทิ้งงาน และบอกเลิกสัญญาเพื่อพิจารณาหาผู้รับจ้างรายใหม่ มาดำเนินการให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์โครงการ เนื่องจากระยะเวลาสิ้นสุดโครงการผ่านมานานแล้ว
หากหน่วยงานไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการพัสดุอาจต้องพิจารณากรณีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้แล้วเสร็จให้ กกท. สมุทรปราการ ส่งมอบพื้นที่พร้อมทรัพย์สิน ให้กับ อบจ. สมุทรปราการ ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาต่อไป
3. สำหรับโครงการสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติ ในปัจจุบันหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินโครงการก่อสร้างใด ๆ จะต้องขออนุญาตต่อสำนักงานการเคหะจังหวัดสมุทรปราการ สาขา 2 ก่อน ทั้งนี้ สำนักงานการเคหะจังหวัดสมุทรปราการ ได้เสนอเรื่องต่อผู้บริหารการเคหะแห่งชาติถึงแนวทางการมอบโอนกรรมสิทธิ์พื้นที่ที่ให้ส่วนราชการอื่นใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของการเคหะฯ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการพื้นที่ในระยะยาว โดยผู้บริหารการเคหะแห่งชาติมีกำหนดพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2565 หาก กกท. สมุทรปราการ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางกฎหมายแล้วเสร็จ สำนักงานการเคหะจังหวัดสมุทรปราการ จะสามารถพิจารณามอบพื้นที่ให้หน่วยงานที่มีงบประมาณในการบำรุงรักษา บริหารจัดการพื้นที่ได้ โดยมีเงื่อนไขคือการรักษาพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยห้ามเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการใช้พื้นที่เป็นอย่างอื่น
4. ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบและดำเนินการกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานการกีฬา
แห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ชี้แจงประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สนามกีฬาได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และช่วยลดข้อร้องเรียนดังกล่าว
5. เนื่องจากหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินอุดหนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เปิดกว้างให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กร สมาคม หรือมูลนิธิ สามารถของรับงบประมาณอุดหนุนจาก อบจ. โดยในขั้นตอนการขอรับการจัดสรรงบประมาณหน่วยงานมักจะยืนยันความพร้อมที่จะดำเนินการและมีการยื่นผ่านกลไกพิจารณามาอย่างถูกต้อง อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เปิดให้ อบจ. สามารถติดตามตรวจสอบได้มากนัก กำหนดเพียงให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายงานภายใน 30 วัน หลังดำเนินการแล้วเสร็จ โดย อบจ. สมุทรปราการ ควบคุมการจัดสรรเงินให้แก่หน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีของหน่วยงานเท่านั้น ไม่มีการเบิกจ่ายเป็นเงินสด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนควรไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้รัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเงินอุดหนุนเข้าสู่ระบบของกรมบัญชีกลางเพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการพัสดุ และในอนาคต อบจ. สมุทรปราการ จะพิจารณาความพร้อมและความเหมาะสมของหน่วยงานที่มาขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต การก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ และการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ TaC Team จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด