ปฏิบัติการร่วม "ศรชล." ต่อต้านก่อการร้าย-ปราบปรามลักลอบขนอาวุธทางทะเล
ฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. เตรียมพร้อมแก้วิกฤตของชาติทางทะเล ต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล
2.การปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทางทะเล" หลักประกันที่มอบให้กับชาติและประชาชน
2 กันยายน 2565 พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. มอบหมายให้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือในฐานะเลขาธิการ ศรชล.ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
1.การต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล
2.การปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทางทะเล"
โดยมี พลเรือโท ประวิณ จิตตินันท์ รองเลขาธิการ ศรชล. พลเรือโท พิชัย ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค 1 ผู้บริหารจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหน่วยงานหลักทั้ง 7 หน่วยงานใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมชมการฝึก บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอ
สัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ในเวลา 10.00 น. เลขาธิการ ศรชล. เดินทางมาถึงเรือหลวงจักรีนฤเบศร หลังจากนั้นได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปและชมการฝึกการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเลและการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล
จากนั้นในเวลา 11.40 น. เลขาธิการ ศรชล. และคณะ ได้เยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการ ซึ่งจัดโดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมสรรพาวุธทหารเรือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “การฝึกการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล และการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)/สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ” โดยใช้กำลังหลักของ ศรชล.ภาค 1 ดำเนินการฝึก ซึ่งการฝึกครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 (Crisis Management Exercise:C-MEX22) เป็นการบูรณาการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล. มีเรือจากกองทัพเรือ (เรือหลวงจักรีนฤเบศร,เรือหลวงสิมิลัน, เรือหลวงตากใบ) กรมศุลกากร (เรือ ศก.609) กองบังคับการตำรวจน้ำ (เรือ ตรน.631) เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือถึง 3 ลำ (S-70B Sea Hawk,Super Lynx 300 ,S76) ชุดปฏิบัติการพิเศษ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ(มนุษย์กบ,Navy SEAL)พร้อมนำเรือปฏิบัติการพิเศษแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี (Spicial Operations Craft Rigid Hull Inflatable Boat:SOC RHIB) จำนวน 2 ลำ มาร่วมฝึกด้วย
พร้อมด้วยชุดแพทย์ฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ (Explosive Ordnace Disposal:EOD)จากกรมสรรพาวุธทหารเรือ และชุดตรวจอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
สถานการณ์การฝึกครั้งนี้สมมุติให้เรือหลวงสิมิลัน เป็นเรือสินค้าที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึดและลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รัฐบาลมอบหมายให้ ศรชล.บูรณาการขีดความสามารถจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางทะเล เพื่อเป็นหลักประกันที่มอบให้กับชาติและประชาชนว่า ศรชล. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในทุกมิติของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”