“จารุพงศ์” รอด ศาลฎีกาฯชี้ ป.ป.ช.ไร้อำนาจฟ้องปมรับลูกปราศรัยแบ่งแยกประเทศ
“จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รอดคุก! ศาลฎีกานักการเมืองฯ พิพากษายกฟ้อง ปมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดคดีละเว้นปฏิบัติหน้ที่ รับลูก “เต้น ณัฐวุฒิ” ปราศรัยแบ่งแยกประเทศ-ม็อบหน้า ป.ป.ช. เผย พนง.สอบสวนไม่ฟ้อง อัยการชี้ขาดไปแล้ว ไร้อำนาจฟ้องแต่แรก
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 10/2564 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ยื่นฟ้อง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปัจจุบันลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ) เป็นจำเลย คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไปกล่าวปราศรัยงานชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ยอมรับข้อเสนอของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย) เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามา กทม. และปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. มีการนำผ้าไวนิล ปรากฏข้อความลักษณะแบ่งแยกประเทศไทยไปติดตามท้องที่ต่าง ๆ โดย ป.ป.ช. ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 116 (2) (3) ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 (ฉบับเก่า) มาตรา 123/1 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 (ฉบับใหม่) มาตรา 172 ประกอบมาตรา 30 และ 192
โดยนายจารุพงศ์ จำเลยไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา และศาลดำเนินการออกหมายจับจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถจับได้ จึงพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย และถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
โดยศาลมีคำพิพากษาสรุปได้ 2 ข้อกล่าวหา แบ่งเป็น
- ชี้ “จารุพงศ์” สั่งข้อปฏิบัติไปแล้ว ไม่ถือว่าละเว้น
กรณีกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นว่า จำเลยเป็น รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 สามารถใช้อำนาจเข้าไปสั่งการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยพนักงานปกครองจัดทำบันทึกรายงานสถานการณ์ข่าวการชุมนุมเสนอแก่จำเลย แต่ขณะนั้นยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่าจะมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งเป็นการชุมนุมภายในอาคารเพียงชั่วคราว
เมื่อระยะเวลาตั้งแต่มีการรายงานข่าวจนถึงวันชุมนุมเป็นเวลาเพียง 2 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบบันทึกรายงานข่าววิทยุด้วยตนเองหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยถูกปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2556 เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน กรณีไม่แน่ว่าในช่วงเกิดเหตุจำเลยมีข้อมูลครบถ้วน และมีเวลาเพียงพอใช้ดุลพินิจสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างรอบคอบเพียงใด นอกจากนี้จำเลยมีข้อสั่งการในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 5/2556 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2556 ไว้แล้ว จำเลยจึงหาจำต้องมีข้อสั่งการในเรื่องเดียวซ้ำกันอีก
กลุ่ม นปช.ได้แสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับการกระทำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และได้ยุติการชุมนุมไปเอง ไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่า จำเลยควรจะต้องมีข้อสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการที่มีขอบเขต และกำหนดระยะเวลาเหมาะสมไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวปราศรัยยอมรับข้อเสนอของกลุ่ม นปช.นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับทราบเนื้อหาคำปราศรัย ในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศของแกนนำคนอื่น ส่วนข้อเสนอข้ออื่น ก็มิได้มีการกำหนดวันเวลา และสถานที่ที่จะเคลื่อนไหวให้เป็นที่แน่นอน โดยให้ผู้ชุมนุมรอการแถลงข่าวก่อน จึงมีลักษณะเป็นการเสนอวิธีการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งยังไม่ทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
กรณ๊หาใช่เป็นเหตุอันกำลังจะเกิดขึ้นจริงที่จำเลยจะต้องเร่งสั่งการ เจ้าพนักงานก็มิได้มีผู้ใดถือเอาคำปราศรัยของจำเลยมาเป็นข้อสั่งการในการปฏิบัติราชการ ประกอบกับข้อเสนอแต่ละข้อหาใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ รมว.มหาดไทย อีกทั้งการที่จะให้จำเลยสั่งการเพื่อให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้นไม่ใชเรื่องง่าย เนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาความขัดแย้งแตกแยก ส่วนการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จำเลยก็ไม่ได้มีข้อสั่งการใดเช่นกัน
กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันพึงคาดหมายได้จากจำเลย ในฐานะรักษาการ รมว.มหาดไทย ในภาวะเช่นนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหานี้
- พนง.สอบสวน-อัยการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว
ส่วนความผิดตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปีนั้น
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับเก่า ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ มิให้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ส่วน พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2561 โดยมาตรา 28 ประกอบมาตรา 30 เพิ่งบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง ข้อหาความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งคดีนี้คือข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ก็กำหนดเงื่อนไขไว้ใน มาตรา 55 (2) ว่า ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้อง หรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้น และเป็นไปโดยชอบด้วย และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม เว้นแต่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
เมื่อได้ความว่า ได้มีผู้กล่าวโทษจำเลยจากการกระทำตามฟ้องโจทก์ว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114, 116 และ 119 และพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเมื่อ 11 ส.ค. 2559 ต่อมาเมื่อ 31 ก.ค. 2561 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลย คำสั่งของพนักงานอัยการเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด มีผลเท่ากับว่า ได้มีการดำเนินการต่อจำเลยในการกระทำความผิดข้อหานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นแล้ว
- ป.ป.ช.ไร้อำนาจยกเรื่องมาไต่สวน-ฟ้องเอง
เมื่อไม่ปรากฏว่าการดำเนินการของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่ชอบ หรือมีกรณีต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา 55 (2) แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่มีอำนาจรับหรือยกเรื่องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) ขึ้นไต่สวนอีก โจทก์ไม่มีอำนอาจฟ้องข้อหานี้ พิพากษายกฟ้อง