13 พรรคดัน“ปลดหนี้ กยศ.” ศึกชิง “คะแนนรุ่นใหม่"
เมื่อโหมดเลือกตั้งเข้าสู่การโหมโรง นาทีนี้ทุกพรรคการเมือง ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสเพื่อหาความนิยม การแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. เพื่อเอาใจลูกหนี้กว่า6ล้านคน คือตัวเลือกที่ "ส.ส." จะใช้โกยคะแนน
หากรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อยู่ครบเทอม ในเดือนมีนาคม 2566 การเลือกตั้งทั่วไป จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ทุกพรรคการเมืองที่หมายมั่นจะชิงชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่ปฏิเสธถึงการสร้างผลงาน เพื่อโกยคะแนนนิยม สร้างฐานความชื่นชอบให้กับพรรคการเมือง รวมถึงตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.”
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ผ่านเวที “ประชุมสภาผู้แทนราษฎร” วาระพิจารณา แก้ไขร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือ พ.ร.บ. กยศ. วาระสอง
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ 4 พรรคการเมือง คือ ภูมิใจไทย เพื่อไทย ประชาชาติ และประชาธิปัตย์ เสนอร่างแก้ไขให้สภาฯพิจารณา และกดดันให้ “นายกฯ” ลงนามรับรอง ฐานะเป็นกฎหมายการเงินได้สำเร็จ
และเมื่อถึงชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ(กมธ.) ในประเด็นสำคัญ มี "ส.ส.” 13 พรรค สนับสนุน ผ่านการอภิปรายและลงมติ สนับสนุนปลดล็อค “หนี้” ให้กับผู้กู้ กยศ.
ถือเป็นการชิงจังหวะทางการเมือง เพื่อหวังผลให้ ลูกหนี้ ตามสถิติของสำนักงาน กยศ. บันทึกไว้ เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ว่ามีทั้งสิ้น 6.2 ล้านรายซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปวส. ปวช. ซึ่งเป็น ฐานเสียงคนรุ่นใหม่
เมื่อ จำแนกเป็นรายภาค จะพบว่า “ลูกหนี้ กยศ.” ในภาคอีสาน มากสุด คือ 2 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ 2 แสนล้านบาท
รองลงมาคือ ภาคเหนือ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาท
ภาคใต้ 9.9 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาท
กทม.และปริมณฑล 8.6 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาท
ภาคกลาง 6.2 แสนราย คิดเป็นเงินกู้ 6.6หมื่นล้านบาท
และภาคตะวันออก 4.2 แสนราย คิดเป็น 4.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับ 13 พรรคการเมืองที่สนับสนุนร่างกฎหมาย กยศ. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลัง พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังปวงชนไทย
ประเด็นไฮไลต์ ที่ต้องการเอาใจ “ลูกหนี้ กยศ.“ รวมถึง ”ผู้ค้ำประกัน กยศ.” คือ
1.ปลดล็อคเงื่อนไขให้มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี
2.หั่นดอกเบี้ยเงินกู้ให้เป็นศูนย์
3.ไม่มีค่าปรับกรณีผิดนัดชำระ
เพราะทั้ง 3 ข้อนั้น คือ ต้นตอที่ทำให้ “ลูกหนี้ กยศ.” นั้นต้องมีรายจ่ายส่วนเกินในการใช้ชีวิต ช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ “ผู้ค้ำประกัน” ต้องแบกรับภาระหนี้ กรณีที่ลูกหนี้ “เบี้ยวชำระ” บางรายถึงกับโดยยึดบ้าน ยึดที่ดินทำกิน กลายเป็นความเดือดร้อนจากสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อ
แม้ในชั้นของสภาฯ จะยังไม่มีข้อสรุปใน 2 ประเด็นท้าย เพราะต้องรอการลงมติชี้ขาดในช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 นี้อีกครั้ง และเมื่อผ่านวาระสามไปได้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และยังไม่รู้ผลว่า จะได้รับความเห็นชอบตามสิ่งที่สภาฯ แก้ไขหรือไม่ และกฎหมายจะทันใช้บังคับในช่วงสมัยของสภาฯ ชุดปัจจุบันหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแสดงบทบาทของ “ส.ส.” คือ นำไปบอกกล่าวผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ และเคลมว่าเป็นความพยายามผลักดัน ช่วยเหลือ
เหตุผลสำคัญที่ทุกพรรค ต้องใช้บทบาทของสภาฯ ช่วยเหลือประชาชน ผ่านการแก้หนี้ ปลดหนี้ เพราะเห็นผลสำเร็จ ที่ “กระทรวงยุติธรรม” ขับเคลื่อนผ่าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร พรรคพลังประชารัฐ ในงานมหกรรมไกล่เกลี้ยหนี้สินครัวเรือน ซึ่งรวมถึง การเปิดเวที "ปลดหนี้ กยศ.”
จากสถิติการจัดงาน 77 เวทีใน 77 จังหวัดของ “สมศักดิ์” พบว่า ได้ใจคนมีหนี้ โดยเฉพาะ หนี้ กยศ. ช่วยเหลือประชาชนได้หลักหมื่นราย ทำให้ความนิยมของ "กลุ่มสามมิตร" ขยายฐานไปยังคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่
“นักการเมือง” ในสภาฯ ซึ่งหวังผลเจาะฐานคนรุ่นใหม่ อาจประเมินว่า หากไม่เกาะกระแส "ปลดหนี้ กยศ.” อาจเสียโอกาส และตกขบวนได้ใจคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้.