ป.ป.ช.ลงพื้นที่สอบสร้างทางยกระดับ จ.อุบลฯ 798 ล้าน ล่าช้านาน 10 เดือน
ป.ป.ช.ลงพื้นที่ลุยสอบ โครงการก่อสร้างทางยกระดับ จ.อุบลฯ ใช้งบกว่า 798 ล้านบาท แต่ล่าช้านาน 10 เดือน เหตุให้เวลาหน่วยงานในพื้นที่ย้ายเสาไฟฟ้า ท่อประปา สายสื่อสาร “ผู้ว่าฯ” ไล่บี้ทำให้เสร็จภายใน ธ.ค.65
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข้อมูลการลงพื้นที่ ภายใต้โครงการต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายศรัทธา กอบกุลบุญศิริ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายกฤตชัย พรมวัน หัวหน้ากลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับ นายสุริยา บุตรจินดา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากข้อมูลการปักหมุดของเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการที่มีงบประมาณสูงมากกว่า 700 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานตั้งแต่ปี 2562 มีการขยายสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างไปอีกเกือบ 1 ปี ทำให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต เคยลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2565
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 กับทางหลวงหมายเลข 23 (แยกดงอู่ผึ้ง) และจุดตัดทางหลวงหมายเลข 231 กับทางหลวงหมายเลข 212 (แยกวนารมย์) เป็นทางหลวงแผ่นดินสายหลัก วงแหวนรอบที่ 1 ของตัวเมืองอุบลราชธานี ดำเนินการก่อสร้างระหว่าง กม.0+100 ถึง กม.4+160 ระยะทาง 4.060 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเมือง ตำบลอุบล ตำบลแจระแม ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อแก้ปัญหาการจราจรจุดตัดทางแยกที่มีปริมาณรถสะสมจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เครือข่ายการขนส่ง รองรับการเดินทางไปจังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ รวมถึงด่านชายแดนเชื่อมต่อราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 ในอนาคต
โครงการดังกล่าวกำหนดเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 798,655,400 บาท เพื่อให้ทางแยกทั้งสองแห่งเป็นทางลอดและทางยกระดับพร้อมทางคู่ขนาน ดำเนินการการในพื้นที่รับผิดชอบของแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 โดยมีสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2565 มี บริษัท ส.เขมราฐอินดัสตรี้ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง มีการขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างออกไปอีก 317 วัน รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 1397 วัน จะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
ผลการลงพื้นที่ TaC Team ได้รับทราบข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ความคืบหน้าการก่อสร้างแยกวนารมย์ ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณร้อยละ 95 คงเหลือการก่อสร้างถนนรอบบริเวณวงเวียนเหนอทางลอดและการปรับภูมิทัศน์ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ความคืบหน้าการก่อสร้างแยกดงอู่ผึ้ง ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณร้อยละ 90 คงเหลือการก่อสร้างหลังคาทางลอด ถนนรอบบริเวณวงเวียน และการปรับภูมิทัศน์ ประมาณระยะเวลาแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ภาพรวมแผนงานของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2565 และสามารถเปิดใช้ได้ในช่วงต้นปี 2566
2. เหตุผลการขยายระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาจ้าง สำนักก่อสร้างสะพาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ชี้แจงว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการสร้างทางเบี่ยงสำหรับการสัญจรของประชาชนก่อนเริ่มการก่อสร้างทางลอดได้ เนื่องจากต้องรอให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ มาดำเนินการเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้า ท่อประปา และสายสื่อสาร ออกจากพื้นที่ตามแนวถนนเดิมก่อน ทำให้เสียระยะเวลาดำเนินงานไปประมาณ 10 เดือนหรือประมาณ 310 วัน เพราะการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งทั้งสามหน่วยงานไม่ได้มีการขอรับการจัดสรรงบประมาณไว้ นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานจริงยังต้องดำเนินการไปทีละช่วงเพื่อลดผลกระทบต่อการใช้งานของประชาชน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายให้แล้วเสร็จในคราวเดียวได้
3. เทศบาลนครอุบลราชธานี มีข้อกังวลเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบระบายน้ำจากท่อระบายน้ำของโครงการไปยังรางระบายน้ำของเทศบาลฯ ซึ่งมีรูปแบบการระบายน้ำและระดับความสูงไม่ตรงกัน อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการไหลของน้ำ และในช่วงฝนตกหนักอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมกับ นายศรัทธา กอบกุลบุญศิริ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายธีรพันธ์ ภูมิรัตนประพิณ ผู้แทนสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง นายวันปิยะ ภุมมะภูติ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 นางสาวเกษมนีย์ นาจาน คลังจังหวัดอุบลราชธานี นายก้องเกียรติ แก่นทิพย์ ผู้ช่วยผู้ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 นายณัฐรดา ศิริวัฒนกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 3 นางพรทิพย์ ผ่องศรี ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 2 นายณรงค์กรณ์ หลักคำ ปลัดอำเภอเมืองอุบลราชธานี และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสรรพากรพื้นที่อุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองแจระแม เทศบาลตำบลขามใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุบลราชธานี การประปาภูมิภาคสาขาอุบลราชธานี บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ สาขาอุบลราชธานี ตลอดจนสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดอุบลราชธานี
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อประชาชนที่ต้องการให้โครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดใช้งานได้โดยเร็ว โดยมีข้อสรุปดังนี้
1. จากการชี้แจงความคืบหน้าและการคาดการณ์กำหนดแล้วเสร็จของโครงการที่คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วกว่าระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาที่ได้มีการขยายให้แก่ผู้รับจ้าง ขอให้สำนักก่อสร้างสะพานในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ และแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันกำกับติดตามการดำเนินงานของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามแผนงานที่คาดว่าจะเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อดำเนินการตรวจรับและเปิดใช้งานได้ภายในเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ หากโครงการในส่วนใดแล้วเสร็จก่อนจะพิจารณาเปิดให้ประชาชนใช้ส้นทางได้ก่อนเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่
2. การบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในระยะที่เหลือ ได้แก่ ปัญหาการจราจรและการระบายน้ำ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการและหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับเทศบาลนครอุบลราชธานีในการดูแลเมื่อเกิดปัญหาการจราจรและการระบายน้ำ ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว สำหรับประเด็นระดับความสูงของท่อระบายน้ำ ให้บริษัทผู้รับจ้างจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครอุบลราชธานีเพื่อวัดระดับและตรวจสอบเส้นทางการไหลของน้ำ รวมทั้ง ให้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำซึ่งอาจมีการตกค้างของวัสดุจากการก่อสร้างเพื่อเตรียมการรองรับช่วงที่จะมีฝนตกหนักในพื้นที่
3. สำหรับการดำเนินโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ในพื้นที่ตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในพื้นที่ แขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 รับจะเป็นผู้ประสานงานแจ้งข้อมูลให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าถึงแผนการดำเนินโครงการในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา สายสื่อสาร นำข้อมูลไปพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับการดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการที่จะลดปัญหาในการบริหารสัญญา ลดความเสี่ยงที่จะต้องขยายระยะเวลาดำเนินการ และลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่
4. ประเด็นการสื่อสารและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อลดความเข้าใจผิดและป้องกันความขัดแย้ง เกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่ ให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายสื่อมวลชนรับฟังข้อมูลจากการชี้แจงของหน่วยงานที่รนับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารความคืบหน้าการดำเนินโครงการและกำหนดแล้วเสร็จที่ชัดเจนต่อประชาชนให้รับทราบอย่างถูกต้องตรงกันต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ TaC Team จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด