"วันชัย" ประกาศหนุนแก้รธน.ทุกฉบับ ประเมินม.272 มีอยู่ ก็ไม่เอื้อ "ประยุทธ์"

"วันชัย" ประกาศหนุนแก้รธน.ทุกฉบับ ประเมินม.272 มีอยู่ ก็ไม่เอื้อ "ประยุทธ์"

"วันชัย" ชี้เหตุ ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.ไม่กดดันแก้รธน. เพราะไม่มีเวลาทำจนเสร็จ เหตุพฤศจิกายนนี้อาจยุบสภา ประเมิน แก้ม.272 ได้หรือไม่ ก็ไม่เอื้อ "ประยุทธ์" เชื่อไม่ลงเล่นการเมืองสมัยหน้า

         นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4ฉบับที่รัฐสภานัดลงมติ วันที่ 7 กันยายน ว่า ตนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับตามที่ส.ส.และภาคประชาชนเสนอ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตนมองว่าสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน การมีหรือไม่มีมาตราดังกล่าว จะไม่มีความหมาย เพราะในการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป สมัยหน้า เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจะไม่ลงเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้อยู่ในแคนดิเดตนายกฯ  เพราะประเด็นดังกล่าวผูกพันกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามคำร้องของพรรคเพื่อไทยที่ให้ชี้ขาดว่าวาระนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ โดยตนมองว่ามีทางที่จะออกมาคือ ครบ8ปี และ ไม่ครบโดยเริ่มนับ ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 

 

         “หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ตามแนวความเห็นของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ.  คือนับปี 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะมีเวลาถึงปี 2568 ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งอีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์​จะอยู่ไม่ครบ 4 ปี และอยู่ได้ปีครึ่ง หรือไม่ถึงสองปี ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่เล่นต่อ ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 272 ผมจึงมองว่าไม่มี หรือ มี ก็ไม่แตกต่างกัน” นายวันชัย

         นายวันชัย กล่าวถึงทิศทางการลงมติของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่าส.ว.จะไม่ร่วมประชุมหรือเลือกงดออกเสียง ว่า ตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวนั้นรับทุกฉบับ

 

 

         นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ส.ว.และส.ส.รัฐบาลไม่แสดงความเห็นหรืออภิปรายเท่าที่ควร นั้นตนมองว่าทุกฝ่ายรับรู้ว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะแก้ไขไม่ได้ เพราะด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐสภา แม้จะถูกรับหลักการและตั้งกรรมาธิการฯ เมื่อกลับมาพิจารณาวาระสองและวาระสามอาจจะไม่ทัน เนื่องจากสภาฯ จะกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางกาเมืองอาจมีการเปลี่ยนแปลง เกิดยุบสภา ช่วงหลังประชุมเอเปค 18 - 19 พฤศจิกายน ได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นภาพของการกดดัน โดยเฉพาะจากฝั่งส.ส.ร่วมรัฐบาล