เดิมพัน "สภาสูง" ค้ำอำนาจ "2 ป." ฝ่า "แลนด์สไลด์-โหวตสั่งสอน"
ประเด็น “ปิดสวิตช์ ส.ว.” หักเสาค้ำอำนาจ "ตระกูล ป.คอนเน็กชั่น" ถูกจุดกระแส ท่ามกลางเกมการเมืองที่ร้อนระอุอยู่ ณ เวลานี้
ประเด็นการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ถูกจุดกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่นำโดย “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ร่างแก้ไขดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นมาจาก แคมเปญ #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.2564 โดยกลุ่ม “คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272”
เนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมีการแก้ไขเพียงมาตราเดียว โดยกำหนดให้ยกเลิกมาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาล ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนดเท่านั้น
“สมชัย” ให้เหตุผลการปิดสวิตช์ ส.ว.ในวันที่เสนอร่างแก้ไข เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ว่า “การที่ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ ไม่เป็นไปตามหลักสากล ที่นายกฯ ต้องมาจากการเลือกของ ส.ส. แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดให้ มาตรา 272 สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศให้มีความต่อเนื่อง”
แต่อย่างที่รู้กัน “กระบวนการแก้ไข” ขณะนี้ กำลังมีการพิจารณาใน “ชั้นรับหลักการ”วาระแรก จะต้องฝ่าด่าน “ซูเปอร์ล็อก”
ด่านแรก คือ ต้องได้รับเสียงสนับนุน “เกินกึ่งหนึ่ง” ของรัฐสภา หรือประมาณ 365 เสียง
ด่านที่สอง คือ ในจำนวนเสียงที่รับหลักการ จะต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรืออย่างน้อย 84 คน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝั่งการเมือง รู้ดีว่าโอกาสที่ ส.ว.อย่างน้อย 84 คน จะโหวต “รับหลักการ” เพื่อปิดสวิตช์ตัวเอง แทบไม่มี
สอดคล้องกับท่าทีของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร ” ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่าง ที่ประเมินเสียงโหวต คาดว่าจำนวนที่จะสนับสนุนร่างแก้ไขในวาระแรก จะได้จากฝั่ง ส.ส.เกือบ 100% เพราะหากพรรคใดบอกว่า อยากให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คงเป็นประเด็นจุดอ่อนในการหาเสียง
ขณะที่ฝั่ง ส.ว.น่าจะได้เสียงสนับสนุนไม่เกิน 40 เสียง จากส.ว.ที่มาประชุมประมาณ 150 คนจาก 250 คน โดยส่วนใหญ่ที่เหลือ จะเลือกใช้วิธี “งดออกเสียง” มากกว่า ไม่รับหลักการ
ไม่ต่างจากท่าที ส.ว.โดยเฉพาะ “สายบิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ที่เป็นเสมือนเสาค้ำบัลลังก์ พี่น้อง “2 ป.” ที่สัญญาณยามนี้ ยังเดินหน้าขวางการ “ปิดสวิตช์” ตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะนั่นย่อมส่งผลไปถึงการต่อท่ออำนาจของพี่น้อง 2 ป.ในอนาคต
อย่างที่รู้กันว่า “โมเดลปิดสวิตช์ ส.ว.” ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือน ก.ย.2563 “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นดังกล่าวมาแล้ว
ทว่า ครั้งนั้นฝ่ายค้านแพ้โหวตกลางสภา และที่น่าสนใจคือ เสียงลงมติในครั้งนั้น รับหลักการ 268 เสียง จำนวนนี้มี ส.ว. 56 เสียงร่วมลงมติรับหลักการ เพื่อ“ตัดอำนาจตัวเอง” ในการโหวตเลือกนายกฯ ด้วย ฉะนั้นผลการลงมติที่ออกมา ย่อมสะท้อนกลเกมการเมืองในชอตต่อไป ที่ต้องติดตาม
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวนอกสภา ที่ยามนี้อาจไม่ได้มีแค่การปิดสวิตซ์ หากแต่ลามไปถึงคำถามที่ตามมา ด้วยแฮชแท็ก #มี ส.ว.ไว้ทำไม
ไม่ต่างจากพรรคการเมือง“ขั้วซ้าย” โดยเฉพาะเพื่อไทย และก้าวไกล ที่พยายามปลุกกระแส “โหวตสั่งสอน” โหมแคมเปญแลนด์สไลด์ เลือกให้ชนะขาดหวังสกัดการคืนสู่อำนาจของ “ตระกูล ป.คอนเน็กชั่น” ต่อจากนี้!!