ประเทศไทย 14 วัน ไม่มี “ประยุทธ์”
หลังศาลมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติหน้าที่เป็นการชั่วคราวครบ 2 สัปดาห์ หลายฝ่ายจับตา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการอนุมัติใช้งบประมาณกลาง แต่รักษาการก็ไม่เท่าตัวจริง เพราะมีหลายภารกิจที่ยังไม่ได้เข้ามาดู
ครบ 2 สัปดาห์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ 9 เสียงให้รับคำร้องขอวินิจฉัยประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8 ปี รวมทั้งมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีถึงปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขอำนาจรักษาการนายกรัฐมนตรีให้ครอบคลุมอนุมัติงบประมาณและบุคลากร
ถึงแม้ พล.อ.ประวิตร จะไม่นั่งเก้าอี้ประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังเว้นเก้าอี้หัวโต๊ะไว้ แต่ในทางกฎหมายแล้ว พล.อ.ประวิตร คือ ประธานในที่ประชุม ครม. โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเข้าร่วมประชุม ครม.ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เลี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุมที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่กระทรวงกลาโหมป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะงดแสดงความเห็นในที่ประชุม และให้ พล.อ.ประวิตร แสดงบทบาทนำ
ภาวะดังกล่าวจึงทำให้บรรยากาศการประชุม ครม.แตกต่างออกไป โดยภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร ในที่ประชุม ครม.ทำหน้าที่อย่างแข็งขันและมีสไตล์การนั่งเป็นประธานที่ประชุมที่แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้มีการอนุมัติโครงการสำคัญไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติใช้งบประมาณกลางที่เกือบจะหมดแล้วเพราะเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน จะสิ้นปีงบประมาณ 2565 รวมถึงการอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการแต่ละกระทรวงเพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ
ในขณะที่การปฏิบัติภาระกิจส่วนอื่นของรักษาการนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นไปตามภารกิจที่ พล.อ.ประวิตร ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น การลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ในขณะที่บางภารกิจดำเนินการในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เช่น การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งทำให้หลายฝ่ายจับตาดูความเคลื่อนไหวของรักษาการนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าดำเนินการได้เหมาะสมมากน้อยเพียงไร รวมทั้งดูฝีมือว่าจะรับมือกับการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร
ถึงแม้ พล.อ.ประวิตร จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ แต่รักษาการก็ไม่เท่าตัวจริง เพราะมีหลายภารกิจที่รักษาการยังไม่ได้เข้ามาดู โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอเรื่องให้ พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ และถ้าคณะกรรมการชุดใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีควรประชุมเพื่อให้งานขับเคลื่อนไปได้