"พิเชษฐ์" เย้ย "กิตติศักดิ์" ได้ตำแหน่งส.ว. เพราะนำม็อบข้าวพิจิตร

"พิเชษฐ์" เย้ย "กิตติศักดิ์" ได้ตำแหน่งส.ว. เพราะนำม็อบข้าวพิจิตร

"กิตติศักดิ์" ขุดต้นตอปมการเมือง-ทุจริตจำนำข้าว อภิปรายค้านแก้รธน. ด้าน "ส.ส.พท." ตอบโต้ไม่ให้ราคา ชี้มีตำแหน่งส.ว.เพราะนำม็อบข้าวพิจิตร ด้าน "ปานเทพ-นพ.เจตน์" หนุนแก้รธน. แต่ต้องแก้ไขรายละเอียด

         ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิจารณาร่างรัฐธรรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ว่าบรรยากาศการอภิปรายแตกต่างจากวันแรก เนื่องจาก มีส.ว. และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลใช้สิทธิอภิปรายแสดงความเห็น แตกต่างจากการอภิปรายวันแรกที่มีพบว่าผู้อภิปรายส่วนมากเป็นของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเท่านั้น

 

         ทั้งนี้ในการอภิปรายช่วงหนึ่งพบว่ามีเหตุวุ่นวาย พบการตอบโต้ระหว่าง ส.ว.และ ส.ส.เพื่อไทย โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ที่อภิปรายพาดพิงถึงที่เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองก่อนรัฐประหารปี2557 เพราะพบนักการเมืองทุจริต โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่พบว่ามีนักการเมืองติดคุกเป็นร้อยปี อย่างไรก็ดีเมื่อการเมืองมีทุจริตทหารที่รักชาติจึงเข้ามาแก้ปัญหา ทำรัฐธรรมนูญใหม่

         “นักการเมืองบางพรรคบางคนที่ด่านายกฯที่พักงาน และด่า ส.ว.แบบเสียผู้เสียคน ไม่ให้เกียรติ ดูหมิ่นศักดิ์ศรี ทั้งที่บางคนไม่มีศักดิ์ศรีเท่าส.ว.ด้วยซ้ำ ผมมองว่าทุกคนทุกหน่วยงานไม่มีคนดี คนชั่วทั้งหมด เพราะมีคละกันไป ส.ว.ชุดพวกเรามาทำหน้าที่ช่วยประคองบ้านเมืองมาถึงทุกวันนี้แทนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง นายกฯชั่ว นายกโกงประเทศไทยมีจริง แต่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกิตติศักดิ์ อภิปราย

 

         ทั้งนี้มีการประท้วงจากนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ว่า ตนไมให้ราคา ส.ว.ที่ชื่อกิตติศักดิ์เพราะมาเป็นส.ว.ได้เพราะม็อบข้าวพิจิตร วัดบางคล้าก็ไม่ให้เข้าวัด ทำให้นายกิตติศักดิ์ ตอบโต้กลับว่า ตนสามารถเข้าวัดบางคล้าได้ขอให้ไปหาข้อมูลมาใหม่ ส่วนวันที่เลือกนายกฯ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งคนชิงนายกฯ เนื่องจากไม่มีตัวคุณภาพเท่ากับพล.อ.ประยุทธ์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของส.ว. ทั้ง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญส.ว. และ นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์ ส.ว. พบการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในหมวดสิทธิและเสรีภาพ พร้อมให้ความเห็นว่าหากได้รับความเห็นชอบต้องแก้ไขในรายละเอียดบางประเด็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

 

           โดยนพ.เจตน์ อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสิทธิของบุคคลที่มีส่วนร่วมในพรรคการเมือง ที่ลดระดับการมีส่วนร่วมกิจกรรมในพรรคการเมือง ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับประเด็นการทำไพรมารี่โหวต ที่สร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ไม่ถูกนายทุนครอบงำ ซึ่งส.ว.ต้องการให้คงไว้ ขณะที่การแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะรับบริการสาธารณะสุขที่เหมาะสมและมาตรฐาน หากกำหนดให้เป็นมาตรฐานเท่ากับทุกโรงพยาบาลอาจจะเกิดปัญหาได้.