“โรม” กังวลเอกสาร “มีชัย” หลุด อาจชี้นำการวินิจฉัยศาล รธน.ปมนายกฯ 8 ปี
“โรม” กังวลเอกสารความเห็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” หลุด อาจชี้นำการวินิจฉัย “ศาล รธน.” ปมนายกฯ 8 ปี “ประยุทธ์” ได้ ชี้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด หากเริ่มนับ 6 เม.ย.60 อาจขัดเจตนารมณ์ เตรียมเกิดวิกฤติการเมือง
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลุดมาว่า หากเอกสารดังกล่าวเป็นฉบับจริง หมายความว่ามีนายมีชัยสองคนในเวลานี้ คนเก่าคือในฐานะประธาน กรธ.ที่มีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง และอีกคนคือคนที่ให้ความเห็นตามที่มีเอกสารหลุด
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกเอกสารการประชุมของกรธ.ครั้งที่ 501 มีความชัดเจนว่า กรธ. ได้รับรองการประชุมครั้งที่ 500 ดังนั้นหากเอกสารที่นายมีชัย ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุการจดชวเลขมีความคาดเคลื่อน แสดงให้เห็นว่าเอกสารบันทึกการประชุมในครั้งนั้นมีน้ำหนักไม่มาก เพราะจะถูกหักล้างโดยเอกสารคำชี้แจงที่อ้างของนายมีชัย ถึงที่สุดความเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายมีความชัดเจน และคำพูดใด ๆ ในที่ประชุม กรธ.มันได้เป็นนายไปแล้ว และสะท้อน เจตนารมย์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่อง 8 ปี ว่าจะต้องตีความอย่างไรซึ่งการตีความอื่น ๆ ของนายมีชัยก็ไม่สามารถที่จะรับฟังได้โดยหลักการ
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า บทเฉพาะกาลเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจหากตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2560 ก็เป็นการตีความขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ วิกฤตการเมืองจะเกิดขึ้นจากตรงนี้
“เอกสารหลุดอาจจะเป็นการโยนหินถามทาง และอาจจะต้องมองในมิติทางการเมืองเรื่องความสัมพันธ์ภายในรัฐบาล เอกสารที่หลุดมานั้น อาจจะเป็นการให้กำลังใจองคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า อาจจะได้กลับมามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ อย่างไรก็ตามยังไม่มั่นใจว่าเป็นเอกสารความเห็นของนายมีชัยจริงหรือไม่ อาจจะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นมาเองก็ได้ แต่หากเป็นเอกสารจริง ก็ไม่สอดคล้องกับที่นายมีชัยเคยให้ความเห็นไว้ในที่ประชุม กรธ.” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีความกังวลต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีเอกสารหลุดออกมาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า มีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ แต่มองว่าอาจจะเป็นการรีเช็คความคิดเห็นของสังคม ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย และเอกสารดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นการชี้นำการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้นหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาในทิศทางที่เอื้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีคำอธิบายต่อสังคมให้ชัดเจนต่อกรณีนี้
“วันนี้สิ่งที่สังคมอยากเห็นคือการกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อจัดการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง เนื่องจากอยู่ในช่วงสุดท้ายของอายุรัฐบาลแล้ว จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาตัดสินใจลาออกด้วยตัวเอง เพราะ 8 ปีถือว่ามากพอแล้ว หวังว่าวันนี้รัฐสภาจะความเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการเปิดทางให้การเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นการเลือกตั้งที่เปรี่ยมไปด้วยความหวังของประชาชน เพื่อให้นายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชน ประชาชนได้เลือกนายกผ่านสภาผู้แทนราษฎร” นายรังสิมันต์ กล่าว