ย้อนรอยคำพิพากษา "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตัดสินคดี 3 "นายกฯ"
ย้อนรอยคำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตัดสินคดี 3 "นายกฯ" ในทางการเมืองจากเรื่องไหน มีใครบ้าง เช็ครายละเอียดได้ที่นี่!
จากรณีที่ 171 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เข้าชื่อถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง รับคำร้องดังกล่าวพิจารณาวินิจฉัย และให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลคำวินิจฉัยออกมาในเดือน ก.ย.2565
สำหรับการยื่นเรื่องคำร้องตรวจสอบการกระทำ และสถานะดำรงตำแหน่งพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นครั้งที่ 5 ตลอด 8 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีการยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้อง 2 สำนวนและกรณีพล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นตามข้อกล่าวอีก 2 สำนวน
อ่านประกอบ : เปิดสถิติคดี "ประยุทธ์" ถูกร้อง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตลอดวาระนายกฯ 8 ปี
แต่คดีนายกฯ 8 ปี เป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ทำให้ต้องรอคำวินิจฉัยในวันที่ 30 ก.ย.ออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม "ศาลรัฐธรรมนูญ" ถือเป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 3.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 6.นายนภดล เทพพิทักษ์ 7.นายปัญญา อุดชาชน 8.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และ 9.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทต่อคำร้องของผู้ร้องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับผลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
• ทักษิณ ชินวัตร : คดียื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ
คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 ชี้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสิน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2544 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คนมีมติ 8 ต่อ 7 เสียงวินิฉัยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ (ขณะนั้น) พ้นจากข้อกล่าวหา
• สมัคร สุนทรเวช : คดีชิมไปบ่นไป
ในคดีนี้มาจากจุดเริ่มต้นที่ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ส.ว.สรรหา(ขณะนั้น) พร้อมกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามนายกรัฐมนตรี มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตราดังกล่าว จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)
จากนั้นวันที่ 9 ก.ย.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 9 ต่อ 0 ตัดสินให้ว่าผู้ถูกร้อง(สมัคร) กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7)
• ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : คดีละเลยให้เกิดการทุจริตคดีจำนำข้าว และคดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
คดีนี้มาจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.2560 โดยลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปีไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายบังคับคดี นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้วันที่ 7 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติเอกฉันท์ถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจาก จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" จากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
• ประยุทธ์ จันทร์โอชา : คดีวาระนายกฯ 8 ปี
คดีนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านรวม 171 คน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
โดยทั้งหมดร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 เวลา 15.00 น.