จุดตาย ป.ป.ช. พ่ายคดีโรงพัก สาวไม่ลึก ไปไม่ถึง “ปมสินบน”
สุดท้ายบทสรุปของคดีนี้ อาจไม่ต่างอะไรกับคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯปี 2551 ที่ศาลฎีกาฯพิพากษา “ยกฟ้อง” ยกกระบิ เมื่อ ป.ป.ช.เสื่อมมนต์ขลัง ประชาชนเกิดวิกฤติศรัทธา “โรงพักร้าง” คงกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความอัปยศไม่ต่างกับ “ตอม่อโฮปเวลล์”
รูดม่านปิดฉากลงไปแล้วสำหรับ “คดีโรงพักร้าง” พลันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 “ยกฟ้อง” คดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง ทั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี พ่วงด้วย “บิ๊ก ตร.” 4 ราย เอกชน 1 ราย และตัวแทนเอกชน 1 ราย
“สุเทพ” นักการเมืองลายคราม ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ต่ำกว่า 43 พรรษาการเมือง นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี ครั้งแรกปี 2522 เผชิญมรสุมในชีวิตครั้งสำคัญกับเหตุการณ์ “ส.ป.ก.4-01” เมื่อปี 2538 ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลยกฟ้องว่า ดีใจที่พ้นมลทินเสียที หลังต้องถูกโจมตีว่าเป็นคนทุจริต 8-9 ปี พร้อมประกาศสนับสนุนพรรคการเมืองของประชาชน แต่ไม่ขอหวนกลับมาเล่นการเมืองอีก ยืนยันไม่ฟ้องกลับใคร
เรื่องนี้ “สุเทพ” ยืนยันความบริสุทธิ์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้น ทำสำนวนมาตั้งแต่ปี 2556 และส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไต่สวน มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา ก่อนจะลงมติชี้มูลความผิดเมื่อปี 2562
“ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนที่สร้างไม่เสร็จเป็นเรื่องการบริหารสัญญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกลุ่มผู้รับเหมา” สุเทพ ยืนยัน
เมื่อ “สุเทพ” หลุดบ่วงคดีนี้ กระแสสังคมย่อมวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ “ป.ป.ช.” ซึ่งเป็น “แม่งาน” หลักที่ทำสำนวน และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
เบื้องต้น “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ประเด็นนี้คงต้องรอสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. คัดสำเนาคำพิพากษาฉบับเต็มมาวิเคราะห์ก่อนจะส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าจะมีการ “อุทธรณ์” หรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมายใหม่ของศาลฎีกาฯ เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้
ส่วนกรณี ป.ป.ช.ไม่ได้มีการฟ้องในประเด็นเรียกรับสินบน ทำให้พยานหลักฐานอ่อนลงหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เชื่อว่าสำนวนตอนฟ้องทำสมบูรณ์ และต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ หรือหากใครมีเบาะแส ข้อเท็จจริงใหม่สามารถส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาเพิ่มเติมได้เช่นกัน
ส่วนกรณีเรียกรับสินบน ยอมรับว่าพยานหลักฐานไปไม่ถึง เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับมาเป็นข้อมูลเชิงลึก ไม่มีหลักฐานเป็นเส้นทางการเงิน จึงฟ้องเท่าที่มีพยานหลักฐานครบถ้วนเท่านั้น
เงื่อนปม “เรียกรับสินบน” คือ “ไม้ตาย” ขั้นเด็ดขาดที่อาจทำให้ทิศทางของคดีนี้เปลี่ยนไป แล้วไฉนสำนักงาน ป.ป.ช. จึงไม่ไต่สวนเชิงลึกในเรื่องนี้ต่อ
เท้าความก่อนว่า คดีดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 สำนวน และเพิ่งมารวมกันเป็นสำนวนเดียวในการไต่สวนของศาลฎีกาฯ ได้แก่ คดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลัง เสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลต) ตำรวจ 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาทเศษ โดยแต่ละสำนวนนั้น มีชื่อผู้ถูกกล่าวหาเหมือนกัน และต่างกันแค่บางราย
คดีนี้ “ดีเอสไอ” ยุค “ธาริต เพ็งดิษฐ์” รับผิดชอบเมื่อปี 2556 ปรากฏชื่อของบุคคลอีกมากในสำนวนรวมถึงชื่อของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกฯ ณ ขณะนั้นด้วย ทว่าในการไต่สวนของ ป.ป.ช. นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการตัดชื่อเหล่านี้ออกไป เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าเกี่ยวข้อง
“วิชา มหาคุณ” กระบี่มือหนึ่งแห่ง ป.ป.ช. ขณะนั้น นั่งแท่นประธานอนุกรรมการไต่สวน เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คดีก่อสร้างโรงพักทดแทนนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น แต่ยังสาวลึกไปถึงเส้นทางการเงิน หรืออาจมีการ “ให้สินบน” แก่เจ้าหน้าที่รัฐด้วย
ในช่วงการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิม เกิดแรงตึงเครียดกันระหว่าง “วิชา มหาคุณ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เมื่อ “สุเทพ” ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ถอด “วิชา” ออกจากการเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน
เนื่องจากเคยเป็น “คู่ขัดแย้ง” ตอนที่ “สุเทพ” สมัยเป็นรองนายกฯ มีมติ ก.ตร. รับ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง สวนทางกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดอาญา-วินัยร้ายแรงแก่ “บิ๊กป๊อด” คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 มาแล้ว
ทว่าสำนักงาน ป.ป.ช.ยุคนั้นยังคง “มนต์ขลัง” ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของ “สุเทพ” โดยให้ “วิชา” นั่งประธานอนุกรรมการไต่สวนเรื่อยมา
เมื่อถึงยุค “ผลัดใบ” ของสำนักงาน ป.ป.ช. มีกรรมการใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ นำโดย “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีต ผบ.ตร. อดีต “หน้าห้อง” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามานั่งแท่น “ประธาน ป.ป.ช.” ก็ดูเหมือนว่า “มนต์ขลัง” จะเริ่มเสื่อมคลายลงไป
ว่ากันว่า นับตั้งแต่เริ่มศักราช สำนักงาน ป.ป.ช.ยุคผลัดใบ มี “มือมืด” เดินเกม “สางคดี” ที่ปรากฏชื่อคนสกุล “วงษ์สุวรรณ” ออกจากสารบบ ไม่ว่าจะเป็นคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงคดีโรงพักฉาว แม้จะไม่มีชื่อสกุล “วงษ์สุวรรณ” เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ปรากฏชื่ออยู่ในสำนวนการไต่สวน ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างช่วงแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ด้วย
คดีก่อสร้างโรงพักทดแทน จากเดิมที่เน้นทางไต่สวน สืบสาวเส้นทางการเงินหาข้อมูลเรื่อง “รับสินบน” เพื่อเป็นหลักฐานชิ้นใหญ่มัดตัว “นักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ” กลับ “พลิกประเด็น” ไปเล่นเรื่อง “ขั้นตอน” การจัดซื้อจัดจ้างที่รวบไว้สัญญาเดียว ไม่ยอมแยกการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายภาค ทำให้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกรณี “ฮั้วประมูล”
เรื่องนี้ทำเอา “เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.” หลายรายที่ทำคดีดังกล่าว ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย จนสุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “สุเทพ-พวก” รวม 6 ราย แค่ประเด็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเอกชนผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ เท่านั้น
ไม่มีประเด็น “เรียกรับสินบน” แต่อย่างใด?
ทั้งที่ในโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจ ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า ในระหว่างการก่อสร้าง พ.ต.ท.คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และ ด.ต.สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
คิดง่าย ๆ ระดับแค่ “ดาบตำรวจ” ยังได้เงินกว่า 91.6 ล้านบาท แล้วระดับใหญ่โตกว่านี้มีหรือจะไม่ได้?
เมื่อปี 2562 สำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่งชี้แจงไปหยก ๆ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างขยายผลเส้นทางการเงินในคดีนี้ ทว่าตอนชี้มูลความผิด นายสุเทพกับพวกในปีเดียวกัน กลับไม่มีกรณีนี้แต่อย่างใด?
แต่ ป.ป.ช.ในยุค “ผลัดใบ” กลับแยกสำนวนการเรียกรับสินบนไปชี้มูล “ดาบตำรวจ” ให้ “ตายเดี่ยว” ในข้อหา “ร่ำรวยผิดปกติ” 91.6 ล้านบาทเศษ เมื่อต้นปี 2565 แทน
จึงไม่แปลกเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลผิด "สุเทพ-พวก" แล้วส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ สุดท้ายแล้วฝ่ายอัยการไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ต้องหอบพยานหลักฐานไป “ฟ้องเอง”
สุดท้ายบทสรุปของคดีนี้ อาจไม่ต่างอะไรกับคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯปี 2551 ที่ศาลฎีกาฯพิพากษา “ยกฟ้อง” ยกกระบิ
เมื่อ ป.ป.ช.เสื่อมมนต์ขลัง ประชาชนเกิดวิกฤติศรัทธา “โรงพักร้าง” คงกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความอัปยศไม่ต่างกับ “ตอม่อโฮปเวลล์”