คำพิพากษาฉบับเต็ม! ศาลฎีกาฯยกฟ้อง “สุเทพ-พวก” คดีสร้างโรงพักทดแทน

คำพิพากษาฉบับเต็ม! ศาลฎีกาฯยกฟ้อง “สุเทพ-พวก” คดีสร้างโรงพักทดแทน

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! ศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” คดีสร้างโรงพักทดแทน “พล.ต.อ.ปทีป” รอดเหตุชงเรื่องเสนอตามลำดับบังคับบัญชา “เอกชน” ไม่โดนฮั้ว เพราะเสนอต่ำกว่าราคากลางไม่มาก

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.23/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐฯ (พ.ร.บ.ฮั้ว) กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

โดยโจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ขออนุมัติหลักการในการดำเนินการประกวดราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ยกเลิกแนวทางในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) และอนุมัติให้ ตร.ดำเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจฯ ภายในวงเน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็อกทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง ตร. เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยไม่ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างก่อสร้างโครงการจำเลยที่ 1 อนุมัติตามที่เสนอ

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ กระทบต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางที่กำหนดขึ้นหรืองบประมาณที่สูงขึ้นเป็นเงินจำนวน 6,388,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 6,100,538,900 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคา กับกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างที่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ยื่นว่าถูกต้องครบถ้วนและราคาที่เสนอมีความเหมาะสมหรือไม่ หากไม่ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่เหมาะสมประการใด จะต้องสั่งให้แก้ไขหรือเจรจาต่อรองราคาต่อไปตามเอกสารประกวดราคาจ้าง 

แต่จำเลยที่ 3-4 กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ไม่ตรวจสอบพิจารณาแจ้งหรือนัดหมาย หรือนำเสนอคณะกรรมการประกวดราคาเพื่อพิจารณา ทั้งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ให้ได้รับการคัดเลือกในการเสนอราคาและเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับ ตร. และจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ในการคำนวณส่วนต่าง กรณีมีงานลดหรืองานเพิ่มจากการตอกเสาเข็มได้ครบจำนวนตามแบบของงานก่อสร้าง ทั้ง 396 หลัง อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3-4 ดังกล่าว

ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

จำเลยที่ 3-4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 10 และ 12

จำเลยที่ 5-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา 86 

โดยจำเลยทั้ง 6 รายให้การปฏิเสธ

ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม. พ.ศ. 2548 4 (1) และมาตรา 10 กับระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อ ครม. พ.ศ. 2548 ข้อ 13 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา และอำนาจของ ครม.ในการอนุมัติ ประกอบบันทึกของ ตร. ลงวันที่ 9 ม.ค. 2552 ที่อ้างข้อเท็จจริงตามบันทึก ตร. ลงวันที่ 11 พ.ย. 2551 เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม.ขออนุมัติให้นายกรัฐมนตรี เห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณา ตร.ได้กำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้ ครม.อนุมัติให้ ตร.ดำเนินโครงการสถานีตำรวจทดแทน โดยเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งงบประมาณปี 2552-2554 เป็นไปตาม พ.ร.ฎ. และระเบียบดังกล่าว

  • “สุเทพ” รอด ไม่โดนละเว้นปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ตร.ประสงค์ขอเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 8 27 29 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 ที่ว่า ครม.อนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนตามที่ ตร.เสนอ โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2552 ทั้งนี้ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นว่า เมื่อ ตร.ได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้ว ควรดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมและดูแลรักษาไปพิจารณาดำเนินการด้วย เป็นการอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน เฉพาะเรื่องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากเดิม โดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่บริษัท ธนารักษ์ฯ เสนอ เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่ ตร.เสนอเท่านั้น ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ 

การกระทำของจำเลยที่  1 (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการของสำนัก ตร. จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ตร. ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

  • “พล.ต.อ.ปทีป” ชงเรื่องตามสายงานบังคับบัญชา

ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างได้รับการพิจารณา เหตุผลความจำเป็นโดยมีมูลเหตุข้อขัดข้องในทางกฎหมาย แล้วเสนอขึ้นมาตามลำดับบังคับบัญชาจนถึงจำเลยที่ 2 (พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ) โดยผู้บังคับบัญชาในแต่ละลำดับขั้น รวมทั้ง พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ เจ้าหน้าที่พัสดุสำนักงาน ตร. และ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้ดำเนินการตามที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงเสนอ ซึ่ง พล.ต.ท.พงศพัศ เคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการจัดจ้าง ที่เคยพิจารณาข้อดีข้อเสียของแนวทางวิธีการจัดจ้างที่เสนอมาใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่อาจเป็นไปได้ 

ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้มีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง หรือมีพฤติการณ์ที่มิชอบแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ 8, 27, 29 แล้ว ทั้งการกำหนดรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง และวิธีการจัดจ้าง มิใช่เรื่องที่ต้องส่งให้ ครม.พิจารณา

แม้จำเลยที่ 2 ขออนุมัติต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่เสนอนายกฯนำเสนอเรื่องแก่ ครม.พิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เคยอนุมัติการจัดจ้างตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น เสนอมาก่อนแล้ว การเสนอดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะอนุมัติตามที่จำเลยที่ 2 เสนอหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ ดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ตร. ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 3 (พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ) ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการประกวดราคา และจำเลยที่ 4 (พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์) เป็นกรรมการและเลขานุการฯ โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนดังกล่าว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ และระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ ประกาศ ตร.เรื่องประกาศประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน เอกสารประกวดราคาจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อจำเลยที่ 5 (บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด) เสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่จำเลยที่ 3-4 ไม่นำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างของจำเลยที่ 5 เสนอให้คณะกรรมการประกวดราคา โดยรายการในส่วนของงานฐานรากที่เสนอราคาเสาเข็ม มีราคาต่ำกว่าราคากลางของ ตร. และราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้

เมื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคาแล้ว เห็นวได้ว่า ราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ ต้องพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ การพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคา จึงต้องพิจารณาในภาพรวมตามความเหมาะสมและอยู่ภายในงเงินที่จำเลยที่ 5 เสนอราคา และภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากราชการ

  • เอกชนเสนอต่ำกว่าราคากลางไม่มาก พ้นบ่วงผิดฮั้วประมูล 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.45 ไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันหรือลดโอกาสการสมยอมกันเสนอราคาตามมติ ครม. ที่จะต้องจัดทำบันทึกคำชี้แจงส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือว่าไม่ใช่ราคาต่ำเกินสมควรจนคาดหมายไม่ได้ว่าอาจดำเนินงานตามสัญญาได้ และบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างระบุรวมไม่เกินราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอยืนราคาครั้งสุดท้าย

พฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3-4 ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 3-4 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 

เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3-4 รู้หรือควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนี้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ หรือกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 เข้าทำการเสนอราคา จำเลยที่ 3-4 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 10, 12 ด้วย จำเลยที่ 3-4 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-4 ซึ่งเป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3-4 ดังนั้นจำเลยที่ 5-6 จึงไม่มีความผิด

พิพากษายกฟ้อง