ผ่าถุงเงิน 5 พรรคเล็กฝ่ายรัฐบาล “รปช.” ทุ่มเงินเลือกตั้งปี 62 กว่า 212 ล้าน
ผ่างบการเงินปี 63 ของ 5 “พรรคเล็ก” มีบทบาทจัดตั้งรัฐบาล พบ “รปช.” ทุ่มเงินค่าใช้จ่ายเลือกตั้งปี 62 กว่า 212 ล้านบาท “ชาติไทยพัฒนา” สินทรัพย์ 4 ล้านบาท “ชาติพัฒนา” สินทรัพย์ 1.3 ล้านบาท “เศรษฐกิจใหม่” สินทรัพย์ 2.3 ล้านบาท “พลังท้องถิ่นไท” สินทรัพย์ 2.2 ล้านบาท
กรุงเทพธุรกิจ รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่งบการเงินของพรรคการเมืองประจำปี พ.ศ. 2563 รวมอย่างน้อย 63 พรรคการเมือง โดยถือเป็นการเผยแพร่งบการเงินของพรรคการเมืองครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากครั้งล่าสุดที่เผยแพร่คือ งบการเงินของพรรคการเมือง ประจำปี พ.ศ. 2562 เผยแพร่เมื่อ ธ.ค. 2563
สำหรับพรรคใหญ่ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด 5 อันดับแรกในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ต่างนำส่งงบการเงินในรอบปี 2563 ครบถ้วน
โดยในส่วนของพรรคภูมิใจไทย คว้าแชมป์มีสินทรัพย์เยอะที่สุดใน 5 พรรคใหญ่ จำนวน 89.9 ล้านบาทเศษ เก็บเงินสดกว่า 87.8 ล้านบาท รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ มีสินทรัพย์ 59.6 ล้านบาท ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีสินทรัพย์ 56.7 ล้านบาท ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรค อย่างพรรคเพื่อไทย มีสินทรัพย์รวม 33.6 ล้านบาท พรรคก้าวไกล (สมัยเพิ่งเริ่มเปลี่ยนชื่อพรรค) มีสินทรัพย์รวม 3.2 ล้านบาท
อ่านข่าว: เจาะเซฟ 5 พรรคใหญ่! งบปี 63 ภท.แชมป์ 89 ล้าน พปชร. 59 ล้าน
มาดูในส่วนของ 5 พรรคเล็กที่มีบทบาทร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันบ้าง
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น พรรครวมพลัง)
ยุคนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นหัวหน้าพรรค และ น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เป็นเหรัญญิกพรรค แจ้งงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2563 ระบุว่า มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 16,373,585 บาท จำนวนี้เป็นเงินสดและเงินฝากธนาคาร 14,154,824 บาท มีหนี้สิน 171,265 บาท
มีรายได้รวม 7,365,810 บาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้เงินอุดหนุนจากกองทุนพรรคการเมืองฯ กกต. จำนวน 6,680,216 บาท มีรายจ่ายรวม 5,592,504 บาท
อย่างไรก็ดีที่น่าสนใจในงบการเงินปี 2562 พรรค รปช.แจ้งมีรายได้รวม 12,885,707 บาท รายจ่ายรวม 242,230,856 บาท
โดยจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 212,775,060 บาท นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเทียบเท่ากับบรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งดังกล่าวกว่า 212.7 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23,207,559 บาท ค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 189,567,500 บาท
ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา พรรค รปช. ได้ ส.ส.ไปเพียง 5 ที่นั่ง โดยมี ส.ส.เขตแค่ 1 ที่นั่ง
- พรรคชาติไทยพัฒนา
ยุค น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค นางพวงรัตน์ ชัยบุตร เป็นเหรัญญิกพรรค แจ้งงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2563 ระบุว่า มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4,072,025 บาท โดยจำนวนนี้เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 3,755,838 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 833,978 บาท
มีรายได้รวม 7,712,759 บาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้รับบริจาค-สินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่เงินสด 3,154,960 บาท รายได้รับบริจาค-เงินสด 3 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 10,139,116 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,426,357 บาท
- พรรคชาติพัฒนา
ยุคนายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรค นางอัญชลี บุสสุวัณโณ เป็นเหรัญญิกพรรค แจ้งงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2563 ระบุว่า มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 1,329,554 บาท จำนวนนี้เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 830,056 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,216,575 บาท
มีรายได้รวม 9,266,640 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้รับบริจาค-ทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่เงินสด 5,640,100 บาท รายได้รับบริจาค 2.7 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 4,312,618 บาท
- พรรคเศรษฐกิจใหม่
พรรคนี้ตอนแรกเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่อมาได้เข้าร่วมกับรัฐบาล ยกเว้นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรค ปัจจุบันนายมิ่งขวัญได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว
โดยการแจ้งงบการเงินของพรรคนี้ เกิดขึ้นในยุคนายมนูญ สิวาภิรมยรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค น.ส.นงนลิน ตันติวงศ์ เป็นเหรัญญิกพรรค แจ้งงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2563 ระบุว่า มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2,317,839 บาท เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 2,148,663 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 261,130 บาท
มีรายได้รวม 2,271,772 บาท รายจ่ายรวม 1,398,099 บาท อย่างไรก็ดีที่น่าสนใจในปี 2562 แจ้งมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง 1,681,469 บาท
- พรรคพลังท้องถิ่นไท
ยุคนายชัชวาลล์ คงอุดม เป็นหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท น.ส.ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด เป็นเหรัญญิกพรรคพลังท้องถิ่นไท แจ้งงบแสดงฐานะการเงินประจำปี 2563 ระบุว่า มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2,205,021 บาทมีหนี้สินทั้งสิ้น 63,697 บาท มีรายได้รวม 1,761,919 บาท รายจ่ายรวม 2,428,070 บาท
อย่างไรก็ดีเมื่อปี 2562 แจ้งค่าใช้จ่ายในส่วนเงินสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 20,324,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 3,760,078 บาท