"นิกร" ห่วง การชี้แจงร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง หลังศาลไม่ระบุคนชี้แจงชัดเจน
"นิกร" มอง ศาลรธน. รับวินิจฉัย 2กม.ลูก เป็นตามหน้าที่และอำนาจที่รธน.กำหนด ระบุห่วงการชี้แจงร่างกม.พรรคการเมือง หลังไม่ระบุตัวคนแจงให้ชัดเจน ส่วน ร่างกม.เลือกตั้ง มั่นใจไร้ปัญหา
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะอดีตเลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... ไว้พิจารณา ว่า ตนกังวลในประเด็นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งที่ศาลสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำความเห็นเป็นหนังสือพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ระบุแบบเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงบุคคลใด
นายนิกร กล่าวต่อว่าเบื้องต้นตนเชื่อว่าจะมีฝั่งผู้ที่ยื่นคำร้องคือ ส.ว. 77 คน นำโดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ที่มีหน้าที่ต้องทำเอกสารชี้แจง ขณะที่อีกฝั่งที่เกี่ยวข้องนั้นตนเชื่อว่าคือรัฐสภา แต่เมื่อศาลไม่ระบุเจาะจงว่าคือใครอาจจะทำให้เป็นปัญหา เพราะหากตีความว่าหมายถึงกรรมาธิการฯ ที่มีนายสาธิต ปิตะเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานฯ หรือตนฐานะเลขานุการฯ อาจไม่ได้เพราะกมธ.ชุดดังกล่าวหมดหน้าที่แล้วหลังจากที่เสนอรายงานให้รัฐสภาพิจารณาและรัฐสภามีมติเห็นชอบ
นายนิกร กล่าวต่อว่าหรือหากหมายถึงผู้ที่ยื่นร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับหลัก ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล ที่นายวิเชียร ชวลิต อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำคณะอาจมีประเด็นพิจารณาเพราะร่างฉบับดังกล่าวกกมธ.พิจารณาแก้ไขแล้ว ขณะนี้ตนรอดูว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งนั้นจะปรากฎความชัดเจน เมื่อมีการนำส่งหนังสือขอคำชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ
นายนิกร จำนง กล่าวด้วยว่าส่วน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกกตั้ง ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ร้อง คือ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ และ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งชี้แจงนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งนั้น เป็นฉบับเดียวกับที่ กกต. เสนอให้ครม. นำส่งให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่มีการแก้ไขแม้แต่ประเด็นเดียว อย่างไรก็ดีตนมองถึงเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญต้องรับไว้วินิจฉัยเมื่อมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อร้องขอไม่ใช่ประเด็นว่ามีปัญหาหรือไม่.