สนามทดสอบแลนด์สไลด์ เสี่ยงสะดุด "นิรโทษกรรม"
ความย่ามใจในกระแสแลนด์สไลด์ อาจทำให้ประมาท จนลืมบทเรียนในอดีต เมื่อถึงเวลาเปิดศึก ยุทธศาสตร์พาพ่อกลับบ้าน อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เพื่อไทย “แพ้น็อค” ในยกจัดตั้งรัฐบาล
กระแส “แลนด์สไลด์” ที่ขุนพลพรรคเพื่อไทย พยายามจะปลุกแฟนคลับของตัวเอง ให้กลับมาเทคะแนนให้กับพรรคไม่ใช่เพียงแค่วาทกรรมพูดกันลอยๆ เสียแล้ว เมื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้ “นายก อบจ.ร้อยเอ็ด-นายก อบจ.กาฬสินธุ์” 2 สนามเลือกซ่อม เอาชนะคู่แข่งขาดลอยเกินครึ่ง
เริ่มจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2565 “เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล” ผู้สมัครนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ในนามพรรคเพื่อไทย เข้าวินมาเป็นลำดับหนึ่งได้ 249,093 คะแนน เอาชนะ “ชานุวัฒน์ วรามิตร” ที่ได้ 150,443 คะแนนไปอย่างขาดลอย
ต่อด้วยสนามล่าสุด 25 ก.ย.2565 “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” ผู้สมัครนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ในนามพรรคเพื่อไทย เช่นกัน คว้าอันดับหนึ่ง ด้วย 301,187 คะแนน เอาชนะ “จุรีพร สินธุไพร” ที่ถอดแบรนด์พลัังประชารัฐ มาลงอิสระ ที่ได้ 126,649 คะแนน โดยคะแนนรวมของ “เศกสิทธิ์” ได้มากกว่าผู้สมัครทุกคนรวมกัน
ที่สำคัญ สนามนายก อบจ.ร้อยเอ็ด แชมป์เก่าอย่าง “เอกภาพ พลซื่อ” เคยคว้าชัยชนะ เมื่อการเลือกตั้ง 20 ธ.ค.2563 ได้ 221,845 คะแนน มาครั้งนี้เมื่อสลับตัว ส่งแม่บ้าน “รัชนี พลซื่อ” ลงในนามอิสระ กลับได้มาเพียง 116,027 โดยคะแนนของครอบครัว “พลซื่อ” หายไปกว่าหนึ่งแสน
ผลการเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ.แม้จะระดับท้องถิ่น แต่"เพื่อไทย"ก็เคลมเป็นกระแส “แลนด์สไลด์” ได้อีกครั้งอย่างชัดเจน และตอกย้ำว่า หากเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติเกิดขึ้นในเร็ววัน “เพื่อไทย” มีโอกาสคว้าชัยสูงกว่าพรรคไหน และมั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คือการคว้า ส.ส. เก้าอี้ 253 เสียง ย่อมมีความเป็นไปได้
ขณะที่สนามระดับชาติ หากย้อนไปในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่-จตุจักร เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา “สุรชาติ เทียนทอง” ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย สามารถเอาชนะคู่แข่ง โดยมีคะแนนทิ้งห่างเฉียดหมื่น ด้วยฐานคะแนนของตัวเองและกระแสพรรค
โดย “สุรชาติ เทียนทอง” ได้มา 29,416 คะแนน “กรุณพล เทียนสุวรรณ” จากพรรคก้าวไกล ได้ 20,361 คะแนน และ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” พรรคกล้า ได้ 20,047 คะแนน
ตรงกันข้ามกับ “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ได้ 7,906 คะแนน ซึ่งสะท้อนช่วงขาลงของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างมีนัย แม้พื้นที่ดังกล่าว “สิระ เจนจาคะ” อดีตส.ส.กทม. จะเป็นแชมป์เก่าก็ตาม
แม้จะไม่นับ คะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แลนด์สไลด์ กวาดได้ไป 1,386,215 คะแนน ชนะคะแนนรวมของผู้สมัครทุกคน และแม้ว่า “ชัชชาติ” จะลงในนามอิสระ แต่เพื่อไทยก็พยายามโยงว่า “ชัชชาติ” ไม่ใช่คนอื่นไกลสำหรับพรรค และยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
เมื่อผนวกกับ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทย ยังกวาดเก้าอี้ ส.ก.มาได้ถึง 20 เขต จากทั้งหมด 50 เขต ยิ่งทำให้เพื่อไทยฮึกเหิมในกระแสพรรคมากขึ้นกว่าเดิม
จนกระทั่งสนามเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ. ร้อยเอ็ด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าโหมดเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งตามไทม์ไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกรณีที่สภาอยู่ครบเทอม จะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ค.2566
ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในสนาม อบจ.ร้อยเอ็ด ย่อมถูกต่อยอดไปสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.อย่างแน่นอน อีกทั้งเมื่อผนวกกับการเลือกตั้งซ่อมทุกสนาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การเลือกตั้ง ส.ก. ที่ย้ำกระแส "แลนด์สไลด์" ทำให้คนแดนไกลยิ่งมั่นใจ
ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก้าวย่างของ “ครอบครัวเพื่อไทย” ที่นำโดย “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ที่ออกตระเวนหาเสียงช่วย “เศกสิทธิ์” ถึง 14 เวทีภายใน 4 วัน ได้ส่งผลให้คะแนนพุ่งแรงทะลุหลัก 3 แสน
เมื่อเทียบกับ สูตรสำเร็จในชัยชนะของอดีตนายกฯหญิง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในการเลือกตั้งปี 2554 คือการยึดครองพื้นที่ภาคอีสาน โดยในช่วงหาเสียงมี “แกนนำ นปช.” ช่วยกันลงพื้นที่หาเสียง วันละเกือบ 10 เวที ปักหลักอยู่กินในภาคอีสาน สะสมแต้มทุกพื้นที่
เพียง 49 วันของการเปิดตัว ลุยหาเสียง “ยิ่งลักษณ์” ก็ผงาดขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ แบบแลนด์สไลด์มาแล้ว มาถึงเลือกตั้งครั้งนี้ การเดินเกมที่ “โทนี่” พี่ชาย วางเอาไว้ เริ่มผลิดอกออกผลอีกครั้ง
การหันกลับมาใช้บริการของแกนนำ นปช.“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เหมือนการฟื้นคืนชีพ “แฟนคลับเสื้อแดง” ให้กลับมาคึกคัก เพราะเกือบทุกเวทีที่ “ณัฐวุฒิ” ปรากฏตัว บรรดาแฟนคลับต่างแห่แหนมาฟังการปราศรัยอย่างคึกคัก
หลังจากนี้ ทุกก้าวย่างของ “เพื่อไทย” ย่อมถูกจับจ้องว่า จะปั่น "กระแสแลนด์สไลด์” ได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเป้าหมายขั้นต่ำ หวังจะกวาดเกินครึ่งสภาฯ เพื่อคว้าโอกาสตั้งรัฐบาล
ทว่า สิ่งหนึ่งที่ “นายใหญ่ดูไบ” ไฟเขียวให้ทายาทการเมือง ออกมา "ทดสอบกระแสนิรโทษกรรม” ไปพร้อมๆ กัน ที่เจ้าตัวพูดทีจริงที่เล่นหลายครั้งหลายครา ถึงความหวังในการกลับบ้าน
ความย่ามใจในกระแสแลนด์สไลด์ อาจทำให้ประมาท จนลืมบทเรียนในอดีต เมื่อถึงเวลาเปิดศึก ยุทธศาสตร์พาพ่อกลับบ้าน อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เพื่อไทย “แพ้น็อค” ในยกจัดตั้งรัฐบาล