ส่องการเมืองหลัง 30 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน "ประยุทธ์" รอด-ร่วง ?
ทุกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะมีผลไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพในการเลือกตั้งในวันข้างหน้า
เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันนัดหมาย 30 ก.ย.2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่
เพราะทุกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะมีผลไปถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพในการเลือกตั้งวันข้างหน้า เนื่องจากผลของคดีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะออกมา 2 เส้นทาง ประกอบด้วย
รอด : พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ต้องดูรายละเอียดคำวินิจฉัยว่า จะนับการดำรงตำแหน่งอย่างไร ตั้งแต่ 1.รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อ 6 เม.ย.2560 หรือ 2.นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ โดยเริ่มวันที่ 9 มิ.ย.2562
ไม่รอด : พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะเป็นนายกฯ มาครบ 8 ปี ตั้งแต่ 25 ส.ค.2557 สิ้นสุดวาระ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565
ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรจะต้องติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ย.2565 ว่า "รอด" หรือ "ร่วง" เนื่องจากคำร้องของฝ่ายค้าน 171 คนที่ยื่นผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้สอบถามไปว่า วันที่ 24 ส.ค.2565 ถือเป็นการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่
ซึ่งผู้ร้องคือฝ่ายค้านมีความเห็นมาตลอดว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้ว นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557
แต่หากผลคำวินิจฉัยออกมาเป็นบวกกับพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องพิจารณาว่าจะนับการดำรงตำแหน่งในปี 2560 โดยจะครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 เม.ย.2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
หรือกรณีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวเป็นนายกรัฐมนตรีจนครบวาระในวันที่ 8 มิ.ย.2570
ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกไปนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมัยหน้าอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยเป็นบวกโดยนับปี 2560 หรือ 2562 จะเป็นภารกิจสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565
ขณะเดียวกัน หากเป็นกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ "ไม่เป็นบวก" กับพล.อ.ประยุทธ์ แน่นอนว่าสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ จะจับจ้องไปถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่รักษารัฐบาล
โดยคาดว่าช่วงเย็นของวันที่ 30 ก.ย.นี้ พล.อ.ประวิตรน่าจะเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหาทางออกกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะผลักดัน "ผู้ใด" จะเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาอายุรัฐบาลที่เหลือ
จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา จะนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเลือกจากแคนดิเดตในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ประกอบด้วย
อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย , อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ , ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , ชัยเกษม นิติสิริ และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตามยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาในวันลงมติ หรือหากนับจำนวน ส.ส. และ ส.ว.เมื่อการเลือกตั้งในปี 2562 ต้องได้คะแนนมากกว่า 350 เสียงขึ้นไป
แต่หาก 1 ใน 5 จากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้รับเสียงจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องมีการใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาขณะนั้นนำสู่ขั้นตอนการเลือก "นายกฯ นอกบัญชี"
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากมีการเลือกนายกนอกบัญชี ชื่อพล.อ.ประวิตร จะเป็นตัวเต็งที่จะรับไม้ต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
แต่การทำหน้าที่ของพล.อ.ประวิตรระหว่างรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังคำตัดสินของศาลนั้น ไม่ว่าจะองคาพยพรัฐบาลจะมีข้อสรุปให้ยุบสภาแล้วรักษาการ หรือจะผลักดันพล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีให้เสร็จทุกขั้นตอนภายในเดือน ต.ค. ก็ย่อมผลต่อความเชื่อมั่นจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลกในการมาประชุมที่ไทยในเดือน พ.ย.นี้
ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ย.2565 จะเป็นคำตัดสินสำครั้งสำคัญที่แกนนำรัฐบาล กำลังเตรียมความพร้อมบนทางแยก ที่จะมีผลต่อกระดานการเมืองในอนาคต