8 ปีประยุทธ์ เดิมพัน“พลังประชารัฐ” ยืน“ขั้วหลัก” หรือปิดฉาก “พรรคเฉพาะกิจ”
ฉากต่อไปของพลังประชารัฐ คือเดิมพันครั้งสำคัญ ว่าจะยังสามารถยืนหยัดเป็นพรรคขั้วหลัก หรือขึ้นชั้นเป็นสถาบันตามที่พล.อ.ประวิตร ตั้งใจได้หรือไม่ หรือถึงคราวต้องนับถอยหลังกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ อย่างที่ถูกปรามาส จนต้องปิดฉากหรือไม่ ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน
นับเป็นบททดสอบครั้งสำคัญสำหรับพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะก้าวข้ามนิยามของพรรคเฉพาะกิจไปได้หรือไม่ ในจังหวะที่กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป ซึ่งจะนับเป็นครั้งที่ 2 ของพรรคที่ลงสนาม และมาพร้อมกับจังหวะชี้ชะตา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของศาลรัฐธรรมนูญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะของพลังประชารัฐในปัจจุบัน ได้อานิสงส์สำคัญจากกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ด้วยสโลแกนที่ว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เป็นกลลยุทธ์โค้งสุดท้ายที่ส่งให้โนเนมหลายคน กลายเป็น ส.ส.ในชั่วข้ามคืน
หากสถานการณ์ภายในพรรคตอนนี้ แม้ดูจากภายนอกทุกอย่างจะสงบ ปราศจากศึกในก็ตามแต่ในความเป็นจริง แกนนำและส.ส.หลายคน อยู่ไม่เป็นสุข ต่างมองหาบ้านใหม่กันเป็นแถวเพราะความนิยมของพรรคถดถอยอย่างหนัก จากปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีชื่อของ“พล.อ.ประยุทธ์” ผูกโยงไปกับพรรคหรือไม่ก็ตาม
ส.ส.พลังประชารัฐ ปัจจุบันบางคนปิดดีลได้สำเร็จกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเป็นที่เรียบร้อยรวมถึงส.ส.บางจังหวัด ที่มีบิ๊กเนมเบอร์ใหญ่ของพลังประชารัฐ ก็ตัดสินใจโบกมือลา โดยมีพรรคเพื่อไทย เซย์เยสอ้าแขนรับเข้าพรรค ตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” คอยังไม่พาดเขียงจากปม 8 ปี ด้วยซ้ำ จากนี้ก็เหลือแค่รอฤกษ์เปิดตัวเท่านั้น
นอกจากนั้น ส.ส.บางคนที่มีชื่ออยู่ในข่ายย้ายหนีจากพรรค ถึงขนาดถูกคนในเครื่องแบบลงพื้นที่ประกบตามเป็นเงาเลยทีเดียว และบ้านใหญ่บางแห่ง ที่ใจไปแต่ตัวยังต้องอยู่ เพราะเงื่อนไขบางอย่าง เช่น มีบ่วงเรื่องคดีรัดคอนั่นเอง
ด้วยภาวะภายในที่เป็นอยู่ กำลังสร้างความอึดอัดอย่างขีดสุดให้กับลูกพรรคจำนวนไม่น้อยด้วยเหตุผลและอะไรหลายอย่าง รวมถึงวิธีการบริหารการเมืองแบบทหาร การจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดี “บิ๊กบราเธอร์” มักฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง ใครที่พูดนอกเหนือจากนั้นจะหลายเป็นพวกนอกแถวทันที
แล้วไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นบวกหรือเป็นลบต่อตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ตามและไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะได้ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้ ก็คงยากที่จะพลิกฟื้นความป็อปปูลาร์ของพลังประชารัฐกลับมาได้ ในเมื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังคุมบังเหียน และวางคนของตัวเองแทบทั้งหมดในพรรค แม้จะเหลือคนในสาย พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีกำลังเพียงพอจะทำอะไรได้ ต้องยอมว่าตามพล.อ.ประวิตร ไปโดยปริยาย
อีกทั้ง ส.ส.ไม่ว่าสายไหนในพลังประชารัฐ หรือแม้แต่สาย “พล.อ.ประยุทธ์” เอง ต่างก็เอือมระอากับภาวะห่างเหิน ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องในการทำพื้นที่ ได้แต่มองพรรคร่วมรัฐบาล ระดมขุมกำลังรุกพื้นที่ด้วยโครงการต่างๆ ตรงนี้เองที่ทำให้ส.ส.พลังประชารัฐ ต้องเข้าหาพรรคร่วมบางพรรค เพื่อสร้างผลงานในชาวบ้านได้เห็น จนตกร่องปล่องชิ้นกันในที่สุด
ในมุมมองของ ส.ส.เอง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ได้คัมแบ็ค แต่ไม่เปลี่ยนท่าทีและมุมมอง ก็จะเป็นอุปสรรคสำหรับคนเป็น ส.ส.ในการขยายฐานทางการเมืองแบบที่เคยเกิดขึ้น แม้จะมีจุดแข็งคือกลุ่มแฟนคลับระดับเหนียวแน่น ที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่ถึงอย่างไรเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ต่างจากความนิยมในตัว พล.อ.ประวิตร ที่ถูกน้องเล็กทิ้งขาด
การมีอยู่ของของ พล.อ.ประยุทธ์ ในบริบทที่อิงกับพลังประชารัฐ จึงมีทั้งข้อดีข้อเสีย เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร ที่ตัวไม่มีกระแส แต่มีกระสุน และกลไกอำนาจรัฐ ตรงนี้ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พลังประชารัฐได้เปรียบคู่ต่อสู้
ทว่าเรื่องนี้ก็ได้ให้บทเรียนกับ พล.อ.ประวิตร และพลังประชารัฐ อย่างเจ็บช้ำมานักต่อนัก การเลือกตั้งซ่อมหลายสนามที่ผ่านมา สะท้อนชัดว่าอำนาจรัฐไม่สามารถกำหนดผลการเลือกตั้งได้เสียทีเดียว
ดังนั้น อนาคตของพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมี พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ก็ยังเป็นตัวยืนและที่น่าสนใจ หากพล.อ.ประยุทธ์ ไปกันคนละทางกับพลังประชารัฐ พรรคการเมืองนี้จะเก็บคะแนนเสียงของคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งเคยเทให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้มากน้อยแค่ไหน หรือคะแนนส่วนนี้จะกระจัดกระจายไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเกิดใหม่ทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่คีย์แมนพลังประชารัฐ ต้องขบคิด
ฉากต่อไปของพลังประชารัฐ คือเดิมพันครั้งสำคัญ ว่าจะยังสามารถยืนหยัดเป็นพรรคขั้วหลักหรือขึ้นชั้นเป็นสถาบันตามที่พล.อ.ประวิตร ตั้งใจได้หรือไม่ หรือถึงคราวต้องนับถอยหลังกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ อย่างที่ถูกปรามาสมาโดยตลอด จนต้องปิดฉากรูดม่านไปในที่สุดหรือไม่ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน