“จุรินทร์” จ่อคุย “ประยุทธ์” ปรับครม. รอเคาะชื่อ โควตา ปชป.
“จุรินทร์” นำทัพ “ปชป.“ สัมมนาส.ส. ที่เกาะลันตา กำหนดทิศทางพรรค แนะ กกต. ตั้งสายด่วน แจง กฎเหล็ก 180 วัน จ่อคุย “ประยุทธ์” ปม “ปรับครม.” แย้ม ว่าตามเดิม ไม่ขอเพิ่มโควตา-สลับกระทรวง ยัน ไร้แรงกระเพื่อมภายใน รอเคาะชื่อตามขั้นตอนพรรค เชื่อ ยุบสภาหรือไม่ นายกฯ ต้องหารือพรรคร่วม
ที่โรงแรมอวานี พลัส เกาะลันตา จ.กระบี่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนงานสัมมนาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่า วันนี้เป็นการสัมมนา ส.ส. ของพรรคทั่วประเทศที่เกาะลันตา จ.กระบี่ซึ่งทำมาทุกครั้ง หลังปิดสมัยประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประเมินสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดทิศทางของพรรคในการเดินหน้าต่อไป โดยตนจะได้ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา จากนั้นจะมีรองหัวหน้าพรรค ที่กำกับดูแลแต่ละภาครายงานความคืบหน้าการดำเนินการ และมีเลขาธิการพรรคเป็นผู้ปิดการสัมมนา เป็นเรื่องภายใน ไม่ได้เคร่งครัดอะไรเป็นพิเศษ เพราะผู้แทนก็เหนื่อยมาตลอดสมัยประชุม และทุกคนก็ลงพื้นที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็ถือโอกาสมาพักผ่อนด้วย ในช่วงแค่ 1 วัน – วันครึ่งแค่นี้ หลังจากนี้ก็คงต้องลงพื้นที่ไปปฏิบัติภารกิจของแต่ละฝ่ายต่อไป ส่วนเรื่อง กกต. นั้น เป็นเรื่องทุกพรรค มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง กกต. หรือตามกฎหมาย ทั้งนี้ จ.กระบี่ได้ผู้สมัครครบแล้วทั้ง 3 เขต และจะถือโอกาสเปิดตัวในที่ประชุมสัมมนา ส.ส. ของพรรค หวังว่าจะได้เสียงตอบรับจากประชาชนดีขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. ได้ส่งตัวแทนมาเข้าให้ความชัดเจนกับว่าที่ผู้สมัครของพรรคหรือไม่นั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคได้เชิญไปแล้ว แต่ กกต. ได้ออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรมา แต่สิ่งที่ตนได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ก็คือ อยากเห็น กกต. ตั้งสายด่วนขึ้น เพื่อคอยตอบคำถามให้กับผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ที่สนใจ หรือตอบคำถามจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องภาคปฏิบัติจริง โดยจะขอให้ผู้ที่ตอบคำถามในฐานะที่เป็นตัวแทน กกต. ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีส่วนช่วยทำให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของกกต. ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น หากทำได้จะดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ฝ่ายค้านต้องการให้คลายล็อค หรือแก้ไข กฎเหล็ก 180 วัน ของ กกต. นั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกพรรคมีหน้าที่ต้องปรับตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ และเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติไปตามนั้น จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องปฏิบัติส่วนในฐานะรัฐบาล รัฐบาลก็ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลได้ เพราะแต่ละกระทรวงก็มีภารกิจที่มีความแตกต่างกัน อันนั้นก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของหน่วยราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรับตนก็คิดว่าควรจะทำได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะบริหารประเทศในช่วงเวลานี้ได้อย่างไร จะสนองตอบต่อการแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือทำหน้าที่ได้ครบถ้วนได้อย่างไร สำหรับความคิดตน ก็คิดว่าควรจะทำได้ในขอบเขตที่เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการวางช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการปรับครม. นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯ คงต้องเริ่มต้นกลับมาปฏิบัติงานตามปกติก่อน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ไปรบกวนท่าน แต่ได้สื่อสารทางด้านอื่นเพื่อประสานงานกับท่านมาตลอด เพียงแต่ไม่ได้มาให้ข่าวกับสื่อเท่านั้น และเมื่อนายกฯ มาปฏิบัติภารกิจตามปกติ ก็จะถือโอกาสในการที่จะมาหารือกับท่านว่า ท่านมีความเห็นว่าอย่างไร เราต้องให้เกียรติ คนที่เป็นผู้นำรัฐบาล แม้ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็ตาม แต่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องให้เกียรติท่านนายกฯ ส่วนผมเมื่อโอกาสเหมาะสมก็จะไปหารือ
เมื่อถามว่า อายุรัฐบาลที่เหลืออยู่นี้ เหมาะสมกับการปรับ ครม. หรือไม่นั้น ว่า นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยู่ที่ความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ มันไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะไปบังคับกำหนด เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ รัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม จะเหลือเวลาเท่าไหร่ก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกรณี แต่ละสถานการณ์
“ผมไม่มีความเห็น ขอหารือกับท่านนายกฯ ก่อน เดี๋ยวจะกลายเป็นจะไปหรือกับท่านนายกฯแล้วบอกว่าผมจะเอาอย่างไรนั้น มันก็ไม่เหมาะ แต่ไม่ได้แปลว่าคิดเองไม่เป็น คิดเป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คิดเป็นทุกคน เพียงแต่เราต้องทำงานบนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว และระบุอีกว่า ส่วนจะมีการขอโควตารัฐมนตรี หรือปรับเปลี่ยนกระทรวงหรือไม่นั้น ก็คงเป็นไปตามเดิมในความเห็นตน เพราะยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะเปลี่ยนแปลง ทุกพรรคก็ทราบอยู่แล้วว่า สัดส่วนของแต่ละพรรคมีจำนวนเท่าไหร่ ตำแหน่งอะไรถ้าจะมีการปรับก็น่าจะ คงจะเป็นไปตามตำแหน่งหน้าที่เดิม ก็ต้องคุยกับท่านนายกฯ ก่อน ขอเวลาหารือกับท่านไม่นาน
เมื่อถามว่า กังวลว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่มี ทุกอย่างเรียบร้อย ราบรื่น ไม่มีปัญหาหรอก ในส่วนประชาธิปัตย์ ตอนนี้ยังไม่มีชื่อไว้ในใจหรอก เพราะทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการของพรรค แต่ผมมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคได้มีการประเมินสถานภาพรัฐบาลว่าจะอยู่ครบเทอม หรือจะมีการยุบสภาหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง เพราะจะอยู่ครบเทอมก็เป็นไปได้จะมีการยุบสภาก็เป็นไปได้ ทั้งหมดก็อยู่ที่หัวหน้ารัฐบาลด้วย เพราะคนที่มีอำนาจยุบสภาคือนายกรัฐมนตรี แต่ผมก็คิดว่าเมื่อถึงเวลา ก็น่าจะมีการหารือกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ ก็คงให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล ท่านก็คงสอบถาม หารือด้วย ผมเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น
ผู้สื่อข่าวได้ถามอีกว่าพรรคร่วมมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องการยุบสภาต่อนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า อยู่ที่ท่านนายกฯ จะหารือเสียก่อน ทุกพรรคก็ต้องเตรียมรับมือไว้ทุกสถานการณ์
“อย่างน้อยประชาธิปัตย์ก็เตรียมรับมือไว้แล้วทุกสถานการณ์ เดี๋ยวผมจะถือโอกาสรายงานให้ที่ประชุม ส.ส. ได้รับทราบในช่วงพิธีเปิดสัมมนา ว่าน่าจะเป็นอย่างไร ถัดจากนี้เราต้องเตรียมอะไรบ้าง ในฐานะพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกับอีกหลายพรรคแน่นอน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการประเมินช่วงเวลาการยุบสภาหรือไม่ว่าจะเกิดในช่วงใด หลังการประชุมเอเปค หรือช่วงหลังปีใหม่ ซึ่งรองนายกฯ ได้กล่าวว่า หากไปยุบในช่วงเอเปค ก็คงจะยุ่ง เพราะเอเปคนี้ไม่ใช่การประชุมเล็กๆ แต่เป็นการประชุมระดับโลก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิค มาประชุมร่วมกัน และมีผู้นำระดับสูงของแต่ละประเทศมา เพราะฉะนั้นเหลือเวลาอีกแค่เดือน 2 เดือน ต.ค. – พ.ย. ก็จะมีการประชุมซัมมิท สุดยอดผู้นำในส่วนของเอเปค เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้ผ่านพ้นเอเปคไปเสียก่อน ส่วนของตนนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมมาแล้ว และตนก็นั่งเป็นประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เอเปค ในช่วงต้นปีมาแล้ว แต่การประชุมเอเปคนั้นมีหลายวง วงรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แล้วถึงจะมาวงของผู้นำสูงสุด ก็คือระดับนายกรัฐมนตรี ระดับประธานาธิบดี ผู้นำสูงสุดในการประเทศ หรือผู้บริหารเขตเศรษฐกิจเหล่านั้น ก็จะมาในช่วง พ.ย. โดยประมาณ
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ที่ยังมีมวลชนบางส่วนยังไม่ยอมรับการกลับมาของนายกฯ ประยุทธ์ นั้น จะส่งผลให้การบริหารของรัฐบาลไม่ราบรื่นหรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนเคยตอบคำถามนี้ไปแล้วว่า ตนเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ที่ความเห็นต่างนั้นมีได้ ท่านายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวมพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ ซึ่งก็คงมีประสบการณ์มาตลอด 3 ปีครึ่งมาแล้ว ท่านนายกฯ ก็คงทราบว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ถ้ารับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับความเห็นรวม ๆของประชาชนทั้งประเทศด้วย แต่ถ้าจะถามว่าจะรู้ได้อย่างไรนั้น ก็ต้องประเมินเอา แต่สุดท้ายก็ไปอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง ซึ่งอีกไม่นาน เพราะถ้าอยู่ครบเทอม ก็ 7 พ.ค. เพราะ กกต. ก็พูดไว้โดยประมาณาแล้ว ยกเว้นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง