เปิดเกม“บีบประยุทธ์”ปรับครม. “ปชป."นำร่อง 2 พรรคร่วม ขอโควตาเดิม
เปิดเกม“บีบประยุทธ์”ปรับครม. “ปชป."นำร่อง 2 พรรคร่วม ขอโควตาเดิม “รมช.มหาดไทย” “บิ๊ก พปชร.” ไฟเขียว “วีระกร” โยนชื่อ “ประวิตร” แคนดิเดตนายกฯ
วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม กลับเข้าทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นวันแรก ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 : 3 รอดพ้นบ่วงปมดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี
เงื่อนปมการเมืองที่ต้องเร่งสะสาง คือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีเก้าอี้ว่างอยู่ 4 ที่นั่ง เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ที่นั่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รมช.แรงงาน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 ที่นั่ง รมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 1 ที่นั่ง รมช.ศึกษาธิการ ที่มีคำสั่งศาลฯ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
แม้ท่าทีที่ชัดเจนของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ไฟเขียวให้ปรับ ครม. เพราะไม่ต้องการให้เกิดแรงต่อรอง แรงกระเพื่อมทางการเมือง ภายในพรรคพปชร. สวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องการเติมคนให้เต็ม และใช้ประโยชน์จากตำแหน่งครม.ในการทำพื้นที่การเมือง
จะเห็นได้ว่า โค้งสุดท้ายนี้ 3 พรรคสำคัญในรัฐบาล ทั้ง พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ตั้งแต่หัวหน้ายันบรรดารัฐมนตรี และแกนนำต่างมีหมายงาน ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน ตรวจงาน เยี่ยมโครงการไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งวันหยุดวัันไม่หยุด โดยเฉพาะจังหวะที่ประเทศไทยมีภัยพิบัติน้ำท่วม
มาถึงจุดนี้ จึงมีหน่วยกล้าทวง โดยประชาธิปัตย์ลุยเปิดเกมเอง สัญญาณจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ออกมาแสดงเจตจำนงชัดเจน จะส่งชื่อ “ตัวแทน ปชป.” ไปนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย แทน “นิพนธ์ บุญญามณี” แม้จะเป็นเพียงเก้าอี้ รมช.แต่กลไกมหาดไทย ที่เข้าถึงหน่วยงานท้องถิ่นทุกองคาพยพ ก็สร้างความเกรงใจได้ไม่น้อย
ขณะที่องคาพยพภายใน ปชป.เองก็มีแคนดิเดตสำคัญ โดยเฉพาะ “นายก ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลภาคใต้ เป็นตัวเต็ง เนื่องจากต้องดูแล ส.ส.ภาคใต้ จึงจำเป็นต้องมีตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มบารมีในการประสานงานกับทุกภาคส่วนได้ไม่ยาก
ที่สำคัญหาก “เดชอิศม์” นั่งเก้าอี้รมช.มหาดไทย จะสามารถทำพื้นที่ภาคใต้รองรับการเลือกตั้ง ซึ่งมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การทำพื้นที่ ฉะนั้นเมื่อ “เดชอิศม์” เป็นหัวหน้าภาคใต้อยู่แล้ว จึงมีแรงสนับสนุนจาก ส.ส.ภาคใต้ อยู่พอสมควร
แม้จะเปิดศึกกับ “เด็กนายหัวชวน” ในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. จ.ตรัง แต่รู้กันดีว่า “เดชอิศม์” ไม่ได้ทำโดยพละการ แต่มี “ใบสั่ง” จาก “บิ๊กเนมบางคน” ให้เลือก “กาญจน์ ตั้งปอง” ส.ท.เมืองกันตัง มาลงชิงเก้าอี้ ส.ส. เขต 4 จ.ตรัง แทน “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล”
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่ามี “บิ๊กเนมบางคน” สนับสนุนให้ “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากนั่งเก้าอี้ ส.ส. มาหลายสมัยแล้ว มีความอาวุโสและเหมาะสม แม้จะไม่มีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่ตามธรรมเนียมของ ปชป. จะพิจารณา ส.ส.หลายสมัย เป็นอันดับต้นๆ
อีกทั้งหาก “นริศ” ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี อาจจะทำให้ ปชป.มีความหวังที่จะได้ ส.ส.พัทลุง เพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโดนคู่แข่งเจาะพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย แถมยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้ “ตระกูลธรรมเพชร” ไปช่วยงาน
ดังนั้นต้องวัดใจ “จุรินทร์” และ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคปชป. จะประเมินว่า “เดชอิศม์-นริศ” ใครจะตอบโจทย์เชิงพื้นที่ภาคใต้ได้มากกว่ากัน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย แม้หัวหน้าพรรค จะสงวนท่าที ไม่เร่งเกมกดดันให้ “ประยุทธ์” ต้องปรับ ครม. แต่หากถึงไฟต์บังคับก็ต้องส่งชื่อ เสนอ เพื่อไม่ให้เสียโควตา โดยต้องอ่านใจ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภท. และ “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ จะให้โควตากลุ่มใด
เนื่องจากเดิม “ครูโอ๊ะ” นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ เป็นโควตาของ “กลุ่มทุน” ที่นอนมา ฉะนั้นต้องวัดใจ “อนุทิน-เนวิน” ว่าจะล็อกเก้าอี้ไว้ที่กลุ่มทุนเดิม หรือจะสลับสับเปลี่ยนให้เป็นโควตาของกลุ่มอื่น
แต่ที่สำคัญ ต้องจับตาโมเดลการทำพื้นที่ ซึ่งพรรคภท.เน้นหนักในภาคอีสาน อาจจะเลือกวางเกมให้เก้าอี้รัฐมนตรีกับ “ส.ส.อีสาน” เพราะสามารถเพิ่ม “พาวเวอร์” ทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งได้
ด้านพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คงได้รับอานิสงส์จากแรงกดดันของ “ปชป.” ที่เสนอปรับ ครม.ไปด้วย เพราะตั้งแต่ “ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล” ถูกปรับออกจากตำแหน่งไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ นายกฯประยุทธ์ ปฏิเสธเรื่องปรับครม.มาตลอด
ดังนั้นโควตาที่ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ย่อมมีโอกาสที่จะเสนอชื่อผู้เหมาะสมมานั่ง ซึ่งต้องอ่านใจ “ประวิตร” ว่าจะวางเกมอย่างไร ซึ่งตัวแทนพรรคพปชร. ย่อมต้องตอบโจทย์การทำพื้นที่รองรับการเลือกตั้งเช่นกัน
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่มี 14 ส.ส. แต่ไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรี จึงอาจจะต้องใช้ประโยชน์จากเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างอยู่ ให้โควตากับ “ส.ส.ภาคใต้” หรือ “บิ๊กเนม” ที่ถูกวางตัวให้ดูแลพื้นที่ภาคใต้ ได้มีดาบอาญาสิทธิ์ทำพื้นที่สู้ศึกเลือกตั้ง เพราะเที่ยวนี้หากพรรค พปชร.ยังอยากมี ส.ส.ภาคใต้ ต้องขับเคี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยอย่างหนัก
ขณะเดียวกันประเด็นเริ่มร้อน ที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่กระทบชิ่งมายัง พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อจู่ ๆ “วีระกร คำประกอบ” ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพปชร. ออกมาเปิดประเด็น เสนอชื่อ “ประวิตร” ให้อยู่ในลิสต์ 1 ใน 3 ด้วย
ยี่ห้อ “วีระกร” หากไม่มีไฟเขียวจาก “ผู้ใหญ่ในพรรค” รวมถึง “ผู้มีอิทธิพลนอกพรรค” คงไม่ออกมาเคลื่อนไหวให้ “ทีมประยุทธ์” ต้องขุ่นเคือง
ฉะนั้นแม้มีคนในพรรคพปชร.ออกมาเบรกทันทีทันใด แต่การันตีได้เลยว่า “ทีมประวิตร” เอาจริง ในการเสนอชื่อในลิสต์แคนดิเดตนายกฯ เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกไม่เกิน 2 ปีเศษเท่านั้น
ทุกอย่างก้าวทางการเมืองของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ต่างมีหมุดหมายอยู่ที่ชัยชนะในศึกเลือกตั้งครั้งสำคัญ พอๆ กับเดิมพันของ 3 ป.ที่จะได้อยู่ต่อในสารบบการเมืองอีกหรือไม่