“ไอติม” พูดงานเสวนา 46 ปี 6 ตุลาฯ ชี้ 3 มรดกคณะรัฐประหารต้องรื้อถอน
"ไอติม" ขึ้นเวทีเสวนา 46 ปี 6 ตุลา ชี้ระบบ ส.ว. แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร - กฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายฉบับ - การแทรกแซงการเมืองของกองทัพ เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 6 ตุลาฯ และยังส่งทอดมรดกมาถึงปัจจุบัน แนะต้องรื้อทิ้งเพื่อคืนความปกติให้บ้านเมือง
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย” ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ยังส่งมรดก 3 ประการมาถึงระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน
นายพริษฐ์ยกตัวอย่างประการแรก ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ในแง่ของเนื้อหาและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เช่น กลไกของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแต่มีอำนาจในการกุมทิศทางประเทศ ผ่านการร่วมโหวตกฎหมายสำคัญ และร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.
ประการที่สอง เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ลิดรอนการแสดงเสรีภาพ ซึ่งมีหนึ่งในคำสั่งคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กว่า 47 ที่ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือคำสั่งฉบับที่ 41 ที่แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ให้เพิ่มโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาททั้งบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงาน ศาล ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยมีโทษหนักกว่าสากลและเปิดช่องให้ถูกบังคับใช้ด้วยมาตรฐานที่ไม่คงเส้นคงวา
ประการสุดท้าย คือการปฏิรูปกองทัพ เช่น วางมาตรการป้องกันไม่ให้กองทัพแทรกแซงรัฐบาลพลเรือน ป้องกันการรัฐประหาร เช่น การปิดช่องไม่ให้ศาลรับรองการทำรัฐประหาร การเปิดช่องให้ประชาชนฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฎได้โดยปราศจากอายุความ และการกำหนดให้นายทหารยศนายพลต้องพ้นราชการเกิน 7 ปี ก่อนมีสิทธิได้รับการพิจารณาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
รวมถึงการเปลี่ยนจากระบบผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่การตัดสินใจอยู่กับ ผบ.เหล่าทัพ มาเป็นระบบเสนาธิการร่วมที่อำนาจการตัดสินใจหลักอยู่กับรัฐมนตรี และยกเลิกกลไกที่จำกัดบทบาทฝ่ายพลเรือน เช่น การกำหนดนโยบายโดยสภากลาโหม การแต่งตั้งนายพลโดยบอร์ดกลาโหม พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ลดงบประมาณลับ เปิดเผยรายได้-รายจ่ายธุรกิจกองทัพ การเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และ การตั้งผู้ตรวจการกองทัพที่ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนประชาชน เป็นต้น
“การใช้กลไกของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารแต่มีอำนาจล้นฟ้าในการกุมทิศทางประเทศกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออกและยังมีโทษที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่บังคับใช้อย่างคงเส้นคงวา และกองทัพที่ไม่อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ล้วนเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่เราต้องรื้อถอนออกให้ได้” นายพริษฐ์ กล่าว