“14 ตุลาฯ” ยุคประชาธิปไตยผลิบาน ชัยชนะของประชาชน ?
บทบันทึก “14 ตุลาฯ” หนึ่งในเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายคนเรียกว่าชัยชนะของประชาชน
ย้อนไปเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ในวันที่ 14 ต.ค.2516 กับเหตุการณ์รวมตัวชุมนุมต่อต้านเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นำโดยนิสิต นักศึกษา และประชาชน บริเวณถนนราชดำเนินและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขับไล่รัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร"
ชนวนเหตุการชุมนุมใหญ่ในครั้งนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ความกดดันของประชาชนที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปี ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยความขัดแย้งต่างๆ ภายในรัฐบาล การรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการสืบทอดจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
แต่อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่สุดมาจาก “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ทหารเกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาที่ อ.เภอบางเลน จ.หวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน โดยในซากเฮลิคอปเตอร์พบซากสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก
ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 6 – 9 ต.ค. มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" ประกอบด้วย
1.ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
2.ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
3.ชัยวัฒน์ สุรวิชัย อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวี หมื่นนิกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5.ธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษา ปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6.ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขานุการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
7.นพพร สุวรรณพานิช นักหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์
8.บัณฑิต เอ็งนิลรัตน์ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9.บุญส่ง ชเลธร นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10.ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
11.ปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
12.มนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักหนังสือพิมพ์สังคมศาสตร์ปริทัศน์
13.วิสา คัญทัพ นักศึกษาปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
จากนั้นวันที่ 9 ต.ค. มีการประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมนับแสนคน หลังจากนั้นวันที่ 13 ต.ค. รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง โดยระบุว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่จบลง เพราะมีการปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงวันที่ 14 ต.ค. ทำให้บางคนเรียกวันนี้ว่า "14 ตุลาวันมหาวิปโยค"
- ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หรือการทดลองระบอบประชาธิปไตย ?
ในวันที่ 14 ต.ค. ผู้ประท้วงบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามไล่มาจนถึงพระบรมมหาราชวัง และได้พบกับผู้แทนพระองค์ ซึ่งถ่ายทอดพระราชกระแสขอให้นักศึกษาสลายตัว ซึ่งฝ่ายนักศึกษายินยอม แต่ฝ่ายรองผู้บัญชาการตำรวจกลับสั่งให้ตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อให้นักศึกษาออกได้ทางเดียว ทำให้นักศึกษาที่มีจำนวนมากออกจากพื้นที่ได้ลำบาก
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มต้นปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง และเมื่อสถานการณ์บานปลาย รัฐบาลระดมรถถัง เฮลิคอปเตอร์ และกำลังทหารราบเข้าพื้นที่ โดยมีการปราบปราบทำให้มีผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บ 857 คน และอาคารหลายหลังใกล้กับถนนราชดำเนินถูกวางเพลิง อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร โรงแรมรัตนโกสินทร์ กองสลากกินแบ่งรัฐบาล กองตำรวจนครบาลผ่านฟ้า
จากนั้นทหารถอนกำลังในช่วงเย็น โดยช่วงเวลา 19.15 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร ขอลาออกจากตำแหน่ง แต่เหตุการณ์ยังไม่สงบ จนในช่วงหัวค่ำของวันที่ 15 ต.ค. มีประกาศว่าจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงเริ่มสงบลง เรียกได้ว่าเป้าหมายของประชาชนในครั้งถือว่าประสบความสำเร็จเพราะสามารถขับไล่เผด็จการออกไปจากประเทศได้และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ประชาธิปไตย”
หลังจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 จบลง มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนจากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ร่าง เรียกว่า "สภาสนามม้า" นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2518 มีการเรียกกันว่าเป็นยุค "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" แต่ประชาธิปไตยในครั้งนี้ก็คงอยู่ได้ไม่นานเมื่อมีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่างๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้านและผลกระทบจากสงครามเวียดนาม
ถึงแม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ นำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในปี 2519 คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือเรียกว่าสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยในแบบทดลอง
แม้แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในวังวนการก่อรัฐประหาร ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยมีคณะรักษาความสงบความแห่งชาติ(คสช.) เข้าปกครองประเทซจนมาถึงการเลือกตั้งตั้งในปี 2562 แต่การที่ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามามีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยยังคงไม่หลุดพ้นจากประวัติศาสตร์การเมืองหน้าเดิมๆ