"อธิบดีกรมบังคับคดี" พอใจผลงาน เผยปี66เตรียมงานเชิงรุกแก้หนี้ปชช.
"อธิบดีกรมบังคังคดี" พอใจผลสำรวจความเห็นปชช. เชื่อมั่นการทำงานกรมบังคับคดี เผยเตรียมทำงานเชิงรุก เน้นงานไกล่เกลี่ยหนี้สิน-เอสเอ็มอีเพิ่มเติม
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม แถลงถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2565 ว่า การรับรู้ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญต่อการทำงานของหน่วยงานมากที่สุด ทั้งนี้ในปี 2565 มีหลายเรื่องที่ดำเนินการ ทั้ง บริหารจัดการคดี การผลักดันทรัพย์สินปี2565 ออกจากการบังคับคดี กว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2แสนล้านบาท และนำส่งค่าธรรมเนียมเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนั้นแล้วการทำงานในภารกิจไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาท กว่า 4 หมื่นเรื่อง คิดเป็นมูลค่าทรัพย์กว่า 6,600 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าเป้าหมาย สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ถือว่าประสบความสำเร็จ
“กรมบังคับคดี คือ คนกลางเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ดังนั้นจึงเป็นการเสนอทางเลือกที่สาม ไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาท อย่างไรก็ดีปัจจุบันทีคดีที่อยู่ในการบังคับคดีเป็น แสนเรื่อง แต่คนยังไม่เข้ามารับบริการ อาจเพราะไม่รู้ ไม่ทราบข่าว ดังนั้นกรมบังคับคดีจะเน้นการสื่อสารเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ รวมถึงการให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ กับประชาชนเชิงรุก โดยปี 2566 จะเพิ่มการทำงานเชิงรุกในการให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มเติมจากเดิม6 จังหวัดเป็น 18 จังหวัดเกี่ยวกับความรู้ด้านการเป็นหนี้ ค้ำประกัน ขณะเดียวกันคือการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยปีหน้าไม่ว่าฝ่ายนโยบายจะเปลี่ยนหรือไม่ พร้อมเตรียมงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป” นางทัศนีย์ กล่าว
นางทัศนีย์ กล่าวด้วยว่าในปี 2566 กรมบังคับคดี เตรียมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ในพื้นที่ ส่วนกลาง4 ครั้ง และในภูมิภาค 33ครั้ง นอกจากนั้นจะเพิ่มในส่วนของการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี จากการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อฟื้นฟูกิจการเอมเอ็มอี อาทิ การปรับฐานยอดหนี้ ลดเงื่อนไขของกิจการที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู จากเดิมต้องจดทะเบียนกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แต่กฎหมายที่แก้ไข ลดทอนเรื่องดังกล่าว กิจการขนาดย่อมไม่ต้องขึ้นทะเบียนเข้ามาสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
“ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวตอบไม่ถูกว่าจะทันในสมัยสภาชุดปัจจุบันหรือไม่ เพราะปัจจุบันข้อเสนอจากส.ส.ที่ยื่นร่างกฎหมายประกบ อาจต้องใช้เวลา แต่หากกฎหมายไม่ผ่าน กรมบังคับคดีจะมีโครงการการให้ความรู้กับกลุ่มเอสเอ็มอี ในด้านกฎหมายฟื้นฟูและหากมีปัญหาสามารถทำแผนฟื้นฟูกิจการและการไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนครั้งล่าสุดได้จัดให้มีการไกล่เกลี่ยให้กลุ่มเอสเอ็มอีด้วย” นางทัศนีย์ กล่าว
ขณะที่ในด้านผลการสำรวจ ดร.สาลินี ขจรไพร ประธานบริษัท พีเอเอส คอนชัลแทนท์ แอนด์ รีเซิร์ช จำกัด ฐานะผู้วิจัย แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่เข้ารับบริการ และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ติดหนี้ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะวิเคราะห์เชิงเนื้อหาโดยพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจและความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี ระดับมากที่สุด คิดเป็นค่าเฉลี่ย 9.11-9.32 จากค่าเฉลี่ยเต็ม 10 นอกจากนั้นยังประชาชนยังรับรู้ในบทบาทหน้าที่และการทำงานของกรมบังคับคดีที่เป็นประโยชน์กับประชาชนระดับสูงเช่นกัน
ทางด้านนายยงยุทธ แสนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาบริษัทพีเอเอส ฐานะคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ในการสำรวจเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ กลุ่มที่เป็นหนี้ ทั้งหนี้ ครัวเรือน หนี้ กยศ. หนี้บัตรเครดิต ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดี ว่า ช่วยลดความวิตกกังวล ลดผลกระทบที่เกิดต่อในครอบครัว และมีข้อเสนอแนะว่า อยากให้กรมบังคับคดีช่วยไกล่เกลี่ยลดหย่อนหนี้ ให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติม แง่มุมทางกฎหมายในขั้นตอนที่จำเป็น การจัดกิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก
นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่าขณะที่การสำรวจผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกจากตัวแทนหน่วยงานและฝ่ายบริหารของหน่วยงานรัฐ อาทิ อัยการ สรรพากร และเอกชน การบังคับคดี ทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน และรวดเร็ว แต่พบปัญหาสำคัญคือ เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่ถ่องแท้ รวมถึงสิทธิในการดำเนินการทำให้เข้าใจผิดในการทำงานของหน่วยงานรัฐในการบังคับคดี นอกจากนั้นยังเสนอแนะให้จัดกระบวนการไกล่เกลี่ยในพื้นที่ และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงาน
“การสำรวจเชิงคุณภาพ มีความเห็นตรงกันทุกกลุ่มที่ต้องการให้เน้นการทำงาน รวดเร็ว โปร่งใส ต่อเรื่อง รวมถึงลดขึ้นตอนที่ไม่จำเป็น เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนที่รับริการรวมถึงขยายโครงสร้างองค์กร สร้างความสมดุลบรรลุประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ขณะที่สถาบันการเงิน ภาคเอกชน และสภาทนายความที่สำรวจความคิดเห็นมองว่า การทำงานรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน รวมถึงควรนำระบบฐานข้อมูลที่ดีมาพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนให้เกิดการทำงานร่วมกันที่รวดเร็ว” นายยงยุทธ กล่าว.