“รัชนันท์” แห้วซ้ำ ศาล รธน.ชี้ ส.ว.ตีตกนั่งตุลาการศาล ปค.สูงสุดไม่ขัด รธน.
“รัชนันท์” แห้วซ้ำ! “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมากชี้ พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ ม.15 วรรคสาม ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ปมวุฒิสภาตีตกไม่เห็นชอบนั่งเก้าอี้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ ต.20/2565 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 198 มติหรือการกระทำของผู้ถูกร้อง (วุฒิสภา) ที่ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ร้องเรียน (นายรัชนันท์ ธนานันท์) ผู้ร้องเรียน ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 198 และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้อง (วุฒิสภา) นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หนังสือชี้แจง เอกสารประกอบแล้ว มีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยคำขอในส่วนที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติหรือการกระทำของวุฒิสภา (ผู้ถูกร้อง) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 198 และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 198 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้ ก.ศป.เสนอชื่อผู้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือได้รับการคัดเลือกต่อนายกฯ และให้นายกฯเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วัน และให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง ข้อโต้แย้งที่ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความแตกต่างจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ที่ไม่ต้องให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น
เห็นว่า ศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ การจัดตั้ง และการพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน ผู้พิพากษาหรือตุลาการแต่ละศาลจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย และความเชี่ยวชาญในคดีแต่ละประเภทตามความเหมาะสมของแต่ละศาล มีที่มาที่แตกต่างกัน การแต่งตั้งและการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย่อมแตกต่างกันด้วย จึงไม่อาจนำความแตกต่างนี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ และกระบวนการในการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บังคับกับผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนกรณีข้อโต้แย้งที่ว่า บทบัญญัติดังกล่าว แทรกแซงการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง และขัดต่อความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองนั้น เห็นว่า วุฒิสภาถือเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่จะให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มิได้บัญญัติให้การแต่ตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เหมือในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่ยังคงหลักการเดิมในการคัดเลือกและแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายในระบอบพระราชบัญญัติที่บัญญัติรับรองไว้แล้วจึงไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีก
นอกจากนั้นการที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาเป็นเพียงขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลัง ก.ศป.พิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยเป็นกระบวนการกลั่นกรองที่เกี่ยวกับความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการคัดเลือกที่กระทำโดย ก.ศป. และองค์ประกอบของ ก.ศป. ไม่มีวุฒิสภาเข้าไปเกี่ยวข้อง การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของวุฒิสภาจึงไม่เป็นการใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับ ก.ศป. และไม่กระทบต่อหลักความเป็นอิสระการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ มาตรา 15 วรรคสาม ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ มาตรา 15 วรรคสาม ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 198
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วุฒิสภาลงมติด้วยวิธีลับกรณีการเสนอชื่อนายรัชนันท์ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างน้อย 2 ครั้ง ระหว่างปี 2563-2564 โดยทั้ง 2 ครั้ง วุฒิสภาเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นชอบให้นายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งตามที่เสนอ
รายงานข่าวจากวุฒิสภา แจ้งว่า สาเหตุที่ ส.ว.มีมติไม่เห็นชอบดังกล่าว เนื่องจากพบว่า นายรัชนันท์เคยถ่ายรูปและไปทักทายต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยที่ดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตฟินแลนด์ เมื่อปี 2559 จึงเห็นว่ามีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะที่ไปถ่ายรูปคู่กับนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องหาหนีคดี และอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุว่า การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก.ศป. อาจดำเนินการได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาเลื่อนตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น โดยคำนึงถึงหลักอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ความเหมาะสม ประวัติ และผลงานการปฏิบัติราชการ
(2) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองในขณะนั้น โดยมีคุณสมบัติตามมาตรา 33 และมีความเหมาะสมที่จะแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด
การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสัดส่วนของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง (2) โดยให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด
ให้ ก.ศป.เสนอรายชื่อผู้ได้รับการเลื่อนตามวรรคหนึ่ง (1) หรือได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง (2) ต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบ ก.ศป.กำหนด โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่ากัน
ส่วนวรรคสาม ระบุว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
ส่วนมาตรา 198 ระบุว่า การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง ต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครองไม่เกิน 2 คน บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ