49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

 เมื่อ49ปีของก้าวย่างเหตุการณ์มหาวิปโยค วนมาถึง  "รศ.ตระกูล มีชัย" มองบทเรียนเปรียบเทียบกับบริบทการเมืองปัจจุบัน สรุปได้ว่า วังวนของ "เผด็จการทหาร" ที่คอยสืบทอดอำนาจ จะยังคงอยู่ในระบบการเมือง ต่อไป

         เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 วันมหาวิปโยค ก้าวเดินมาถึงปีที่ 49 แล้ว วันนี้ ผู้นำทางการเมือง ต่างร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่อนุสรณ์สถาน 14ตุลา ที่สี่แยกคอกวัว เช่นทุกปี

 

         ทว่าในรอยจารึกของประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมือง การต่อสู้ของภาคประชาชน ต่อ "ระบอบเผด็จการทหาร” และ ความพยายามเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ผ่านกติกาสูงสุดของประเทศ ยังคงเป็นภาพยนตร์ม้วนเดิมที่รอจังหวะฉายซ้ำๆ

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

         สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง  เมื่อนำฉากของ 14ตุลา16 มาทับซ้อนในวันที่ 14 ตุลา65 ในทัศนะของนักวิชาการอย่าง “รศ.ตระกูล มีชัย” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า “สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ไม่เคยเติบโตเป็นสถาบันการเมืองเพื่อประชาชน เพราะมุ่งแสวงหาเวที หรือพื้นที่เพื่อประโยชน์ให้กับตนเอง”

 

 

         “การเติบโตของคนวัยหนุ่มสาวในแง่ทางการเมืองยุคปัจจุบัน  เข้มแข็งมากกว่าคนรุ่น14ตุลา16 หรือยุค 6 ตุลา19มากจนน่าประหลาดใจ และพบการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกจากส่วนกลาง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุคนี้ได้” รศ.ตระกูล มอง

 

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

         ทว่าในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ การเปลี่ยนแปลงความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ ให้เป็นของประชาชนโดยแท้นั้น “รศ.ตระกูล” มองว่า ยุคปัจจุบันค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญ คือ ผู้นำในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหา นั้น อิงแอบกับ “ฝ่ายการเมือง” ไม่เหมือนกับยุคหลัง14ตุลา16 ที่การรวมตัวของประชาชนเพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหา เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานมีความเข้มแข็งต่อการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

         “ประชาธิปไตยของประชาชนเกิดยาก เพราะสิ่งที่เรียกร้องปัจจุบันไม่สร้างความชัดเจนให้เห็นว่าเป็นการเรียกร้องที่บริสุทธิ์ เพราะมีข้อสังเกตว่าการเรียกร้องเหล่านั้นแฝงเร้นกับกลุ่มอำนาจ และถูกทำลายพลัง ทำให้การเรียกร้องไม่มีอิสระของตนเอง ถูกควบคุม ถูกทำให้แปลกแยก เพราะผู้นำกลุ่มเรียกร้องแฝงตัวกับอำนาจทางการเมือง ทำให้ไม่เข้มแข็ง แม้ในบางพื้นที่จะมีการรวมตัว แต่เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ยึดพื้นที่ตัวเอง และที่สำคัญคือใช้กลุ่มที่รวมตัวนั้นเพื่อต่อรองอำนาจทางการเมือง รศ.ตระกูลขยายความ

 

 

         ส่วนในแง่มุมของการครองอำนาจนั้น  นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง สะท้อนให้เห็นภาพว่า เมื่อ14ตุลา16 คือการครองอำนาจของ 3ทรราชย์ แต่ปัจจุบัน มี3ป.  แม้จะมีความพยายามบัญญัติให้ 3ป.ปัจจุบัน เป็น 3 ทรราชย์ แต่เขาเรียกรู้บทเรียนในอดีตที่ผิดพลาด ประเมินตัวเองและพลิกไปตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นกรณีที่ซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ในอดีต

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

         “การผลัดกันขึ้นครองอำนาจทางการเมืองนั้นเชื่อว่ามีแน่ แต่เขาจะไม่ทำเหมือนในยุคของถนอม-ประพาส-ณรงค์ เพราะองค์ประกอบเปลี่ยน แต่สิ่งที่เขาจะทำ คือ การใช้กติกาของรัฐธรรมนูญ และประเมินกระแสกดดัน ผมเชื่อว่าการสืบทอดอำนาจมีขึ้นแน่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวาระตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เริ่มปี2560 ดังนั้นเขาจะมีเหลือเวลาอีก 2 ปี จึงมีเวลาที่จะหาทางลงแบบมีเกียรติ หาคนเข้ามาสืบต่อได้ วางตำแหน่งอำนาจกับกลุ่มอำนาจของตนเอง” 

         ขณะที่แรงหนุนหลังกลุ่มขั้วของผู้มีอำนาจนั้น “รศ.ตระกูล” ประเมินว่ายังคงเป็นกลุ่มทุน แต่เพิ่มความหลากหลายของกลุ่มทุน  จากในยุค2519 มีเพียง ทุนธนาคาร แต่ปัจจุบัน พบว่า เป็นทุนพลังงาน ทุนก่อสร้าง ทุนสื่อสาร และไม่พบการผูกขาดเบ็ดเสร็จที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนอดีต แต่ทุกกลุ่มพร้อมต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนจะดีแต่แท้จริงแล้วคือ 49ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่ากระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในทิศทางที่ควรจะเป็น

 

 

         “แม้ภาคประชาชนจะตื่นตัวต่อการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กระจายจากศูนย์กลางไปสู่ระดับพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน กลุ่มประชาชนระดับล่าง แต่การการขับเคลื่อนนั้นยังพบว่าพัฒนาไปไม่มาก เพราะประชาชนเก็บความรู้สึก ไว้เป็นการตัดสินใจ ตามอำนาจของตนเองในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ปรากฎชัดเจนคือ ประชาชนรู้จักอำนาจของตนเองมากขึ้นและจะใช้อำนาจเหล่านั้นเป็นการต่อรองและตัดสินใจในการเลือกตั้ง

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

         รศ.ตระกูล ฉายภาพด้วยว่า สถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมากลับไม่พบการพัฒนา ยังวนอยู่ในรูปแบบเดิม แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสถาบันทางการเมืองให้เป็นของประชาชน เช่น ไพรมารี่โหวต เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนเลือกผู้สมัครของพรรคการเมือง แต่ไม่ถูกนำมาใช้ ทำให้ระบบนี้ล้มเหลว ประชาชนไม่เข้าใจ

 

         รศ.ตระกูล บอกด้วยว่า ขณะที่นักการเมืองพบการผันตัวมาจากอดีตข้าราชการ โดยเฉพาะบุคคลในกองทัพ ทหาร คนที่อยู่ในระดับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ กองทัพบก อาศัยอำนาจกองทัพผันแปรตัวเองมาสู่การเมือง และกลายเป็นกลุ่มอำนาจโดดเด่น ขณะที่นักการเมืองทั่วไป เป็นนักการเมืองแบบเดิม คือ ที่อาศัยพื้นที่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของอิทธิพล เพราะยังคงมองว่าด้วยกลไกราชการดูแลประชาชนไม่เสมอภาคเท่าเทียม จึงใช้การเมืองเป็นเครื่องมือ สร้างระบบอุปถัมภ์คำ้จุน ช่วยเหลือ

 

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

         “ข้อน่าสังเกต คือ มีกลุ่มทุนประเภทที่เข้าได้กับทุกกลุ่มอำนาจทางการเมือง คือ  ทุนพลังงาน ทุนสื่อสาร ทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ กลุ่มทุนทางเศรษฐกิจ ที่ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฟากใดอย่างจริงจัง แม้การพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจและประโยชน์ของตนเอง เมื่อเทียบกับอดีตนั้นปัจจุบันเลวร้ายกว่า แม้ประชาชนจะตื่นตัวสูงขึ้น แต่ไม่ได้สัดส่วนกับผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ที่กลุ่มนี้รักษาเอาไว้ได้ ขณะเดียวกันกลไกของราชการยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเมืองและประชาธิปไตยของไทย” รศ.ตระกูล ระบุ

 

 

         แม้ที่ผ่านมาจะมีการกระจายอำนาจ ลดช่องว่างของการให้บริการประชาชนไปได้ แต่ “รศ.ตระกูล” มองว่า ยังไม่เต็มที่ เพราะการสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชนหรือท้องถิ่น รัฐต้องไม่กั๊กอำนาจของตนเองไว้ ต้องให้ประชาชนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของประชาชนด้านประชาธิปไตย  แม้ที่ผ่านมาจะมีการเรียกร้องหรือความพยายามการปฏิรูป แต่ในยุคของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำการปฏิรูปแบบผิวเผิน หรือบางเรื่องไม่ปฏิรูปเลยเพราะต้องการคงอำนาจของตนเองเอาไว้ เนื่องจากกลุ่ม3ป. มีสายใย สัมพันธ์กับกลไกอำนาจเดิม ดังนั้นเขาจะไม่ทำอะไรที่กระทบกับเครือข่ายที่เขาพึ่งพารักษาอำนาจ

 

 

         “สิ่งที่สำคัญกับการเมืองไทย คือ การพึ่งพากับกลุ่มอำนาจอื่น เมื่อเกิดระบบพึ่งพาการตัดสินใจที่จะกระทบกับคนที่เป็นที่พึ่งพาเขาจะไม่ทำ เช่น กรณีการสังหารโหดที่โคราช หรือที่ หนองบัวลำภู ถือเป็นบทเรียนซ้ำๆ กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง ราชการต้องแก้ไข ต้องสางปัญหากับกลุ่มอำนาจราชการ กลุ่มผลประโยชน์ เช่น การควบคุมอาวุธปืน แม้ของไทยจะไม่มีกลุ่มพ่อค้าอาวุธที่กดดันนโยบายรัฐบาลได้ แต่พบความซับซ้อนในกลไกประเพณีระบบราชการแต่ละแห่ง หากไปตะจะขัดกลุ่มประโยชน์อำนาจทางการเมืองในกลไกราชการได้” 

49ปี14ตุลา16 สังคมไม่เรียนรู้ แต่ “เผด็จการทหาร” เรียนรู้ เพื่อสืบทอดอำนาจ

 

         เมื่อสถาบันการเมืองยังไม่เป็นที่พึ่งหวังประชาชน การเคลื่อนไหวของแกนนำภาคประชาชนมีอเจนด้าการเมือง คำถามที่ต้องถาม คือ มองฉากทัศน์การเมืองต่อไป “พรรคมืองจะเป็นเครื่องมือของเผด็จการทหาร” หรือไม่?  

 

         รศ.ตระกูล บอกว่า “ผมไม่เคยไว้ใจพรรคการเมืองไทย เพราะสามารถแสวงหาอำนาจ รวมตัวกับใครก็ได้ เพื่อกลับมามีอำนาจ นักการเมืองและพรรคการเมืองเรียนรู้จาก บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯและหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่บอกว่า เป็นฝ่ายค้านนาน...นั้นอดยาก ทำให้ต้องแสวงประโยชน์อำนาจทางการเมืองนั้นให้ได้ ดังนั้นการเมืองไทย เวลาที่ต้องตัดสินใจ คือ การนำตัวเองไปอยู่ในศูนย์กลางอำนาจ เข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจ ดังนั้นอุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้นอาจจะมีหรือไม่มี แต่สิ่งที่ต้องมีคือ ผลประโยชน์ที่พอยอมรับกันได้"

 

         เมื่อ49ปีของก้าวย่างเหตุการณ์มหาวิปโยค กลายเป็นวันประวัติศาสตร์  ผลลัทพ์ คือ วังวนของ "เผด็จการทหาร" ที่คอยสืบทอดอำนาจ จะยังคงอยู่ในระบบการเมือง ต่อไป ตราบใดที่ บันทึกการเมืองนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ และ ตื่นรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนโดยแท้.