“ดอน” แจงไทยงดออกเสียงปมสงครามรัสเซีย-ยูเครน หวั่นบานปลาย
“ดอน” ออกโรงแจงปม “ไทย” งดออกเสียงในที่ประชุมยูเอ็นจีเอ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” หวั่นเกิดเหตุบานปลาย เป็นสงครามนิวเคลียร์ ย้ำพร้อมจัด “เอเปค” เปิดชื่อ “สี จิ้นผิง-มาครง-เจ้าชายซาอุฯ” ตอบรับเข้าร่วม “ปูติน” รอคอนเฟิร์ม
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ กล่าวในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ที่ถ่ายทอดสดผ่าน FM 92.5 MHz เครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเฟซบุ๊ก Radio Thailand Live ตอนหนึ่งถึงกรณีที่ไทยลงงดออกเสียงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) กรณีของรัสเซีย-ยูเครน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เราติดตาม คิด และพยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ ซึ่งเรารับรู้ว่าเหตุการณ์ที่ยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการสู้รบที่หนักมากสำหรับคนยุคนี้ที่จะเห็นการต่อสู้ด้วยอาวุธและยุทโธปกรณ์สารพัดชนิด แต่ทั้งหมดเมื่อมีการสู้รบกัน สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบทุกประเทศ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ นานาประเทศรู้สึกเช่นนั้น และไทยก็สัมผัสได้จากราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน พืชผักผลไม้ สำหรับนโยบายต่างประเทศของเราคือความสงบสุข และสันติสุขที่เพิ้งจะเกิดขึ้น ไม่ใช่การสู้รบหลังจากที่เราต้องรับมือ และโดนโควิด-19 คุกคามมาตลอด 2 ปีกว่า
นายดอน กล่าวว่า ดังนั้นเราพยายามใคร่ครวญบทบาทของประเทศไทยในเชิงที่เป็นผลประโยชน์ประชาชนนั้นมีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือทุกอย่างกลับคืนสู่ความสงบ ไม่มีการสู้รบกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสหประชาชาติมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เราก็โหวตในกลุ่มส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังรุกรานประเทศอื่น เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ หลังจากนั้นเราก็ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด และโหวตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอด แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือการไม่มีความพยายามยุติปัญหานี้ด้วยการเจรจา สิ่งที่ตามมาคือความเสียหายต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในขณะที่ผู้ร่วมขัดแย้งมีอาวุธมหาประลัยหรือนิวเคลียร์อยู่ในมือ ถ้าเหตุการณ์ไม่สามารถหาจุดยุติได้ โอกาสที่จะใช้อาวุธนานาชนิดที่มีความรุนแรงก็จะตามมา และนี่คือข้อห่วงกังวลของเรา
นายดอน กล่าวด้วยว่า เมื่อถึงการประชุมครั้งนี้ สาเหตุที่เรางดออกเสียง เนื่องจากเราไปตามกระแสส่วนใหญ่มาตลอดเวลา แต่ในเมื่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้น เราต้องมาคิดใหม่ว่าเราควรจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร และนำเรื่องนี้ไปสู่การรับรู้ของนานาประเทศได้อย่างไรถึงความจำเป็นของความสงบ ถ้าไม่ใช่ในลักษณะการออกมติเช่นนี้ หากมีการประณามกันแต่ไม่หารือถึงการยุติปัญหานี้ในเวทีใหญ่ควรดำเนินการ ในฐานะประเทศที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการรุกรานมาตลอดเวลา และเฝ้าติดตามเรื่องนี้มา เราคิดว่าความเห็นของเราหากเราโหวตไปอย่างเดียวกับครั้งก่อนก็คงไม่มีใครรับรู้ได้ว่าเราคิดอย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงเลือกที่จะงดออกเสียง แต่มีการอธิบายความในการงดออกเสียงว่าเรายังยึดมั่นกับหลักการทั้งปวงที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด แต่บัดนี้จำเป็นต้องมาคิดดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด 8 เดือน มีการสู้รบไม่หยุดหย่อน มีการประณามกันตลอดเวลา แต่ไม่มีความพยายามหาข้อยุติพูดจากัน มันไม่น่าเป็นสิ่งที่ควรจะปล่อยเลยตามเลย โดยไทยไม่แสดงท่าที
“นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เรางดออกเสียง เพราะเรารู้ว่าประเทศไทยมักจะอิงกระแสหลักและเห็นด้วยกับนานาประเทศ แต่เมื่อไหร่เราดำเนินการแตกต่างไปจากวิถีปกติของเรา มักจะได้รับความสนใจจากนานาประเทศ และก็เป็นเช่นนั้น เพราะได้รับรายงานจากท่านทูตที่นิวยอร์กว่า ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ต่างก็ติดต่อประเทศไทย อยากรู้ว่าเพราะอะไร และอยากคุยด้วย หากเราเป็นอย่าง 143 ประเทศ ท่าทีของเราคงไม่เป็นที่ปรากฏ ความคิดความอ่านของเราคงไม่เป็นที่สนใจ แม้แต่ทูตสหรัฐก็มาติดต่อขอทราบเหมือนกัน พออธิบายก็มีความเข้าใจ ขอให้รับทราบว่าเราพิจารณาจากมุมผลประโยชน์ของประเทศไทย เพราะเมื่อสงครามสงบ ปัญหาทั้งหลายที่ประสบอยู่มันก็จะหมดไป รวมถึงไม่ต้องไปเสี่ยงภัยกับสงครามนิวเคลียร์ที่มีความเป็นไปได้” นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวถึงความพร้อมของไทยในการเป็น เจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค 2022 ว่า การประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นครั้ง 29 ซึ่งในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจัดประชุมเหมือนเช่นปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นเมื่อเราเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ และสถานการณ์โควิด-19 น่าจะให้โอกาสเราจัดการประชุมเป็นปกติ และมีผู้นำจากประเทศต่างมาเข้าร่วมประชุมที่ไทย โดยผู้นำเหล่านี้เป็นประเทศสำคัญของโลก การที่มาร่วมกันในสถานที่เดียวกัน เราในฐานะประธานเอเปคครั้งนี้มีโอกาสนำประเทศใหญ่ให้เดินตามประเทศไทยได้ โดยมีการจัดวาระประชุมให้สอดคล้องกับความต้องการของเราเป็นสำคัญ เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมภาวะหลังโควิด-19 ทั้งเรื่องการค้า การลงทุนและความเชื่อมโยงต่างๆ ที่น่าจะเกิดความสมดุลและเป็นการวางพื้นฐานในอนาคตในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาเขตการค้าเสรี ตนเชื่อว่าจะมีผู้นำหลายๆประเทศมาเข้าร่วมประชุม ส่วนที่มีคนเกี่ยวโยงกับเรื่องที่ไทยลงมติงดออกเสียงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) กรณีของรัสเซีย-ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการประชุมเอเปค 2022
นายดอน กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้นำประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น ผู้นำสูงสุดหลายประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เหมือนกับเราที่ไปไหนมาไหน ไม่มีปัญหาอะไร เขาจะไม่ยืนยันมาจนกว่าจะถึงใกล้เวลา แต่ได้ให้คำตอบมาว่ามีผู้แทนของประเทศนั้นๆ มาแน่นอน แต่ที่มีการยืนยันชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิกเอเปคทั้งหมด ยกเว้น สหรัฐที่ให้รองประธานาธิบดีมาแทน ส่วนจีน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนยันเข้าร่วมด้วยตัวเอง รวมถึงนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะเดินทางมาในฐานะผู้รับเชิญ เพราะให้ความสนใจเรื่องเอเปค และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด นายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย มาร่วมประชุมด้วย ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเตรียมความพร้อมแล้ว ส่วนจะมาหรือไม่จะให้คำตอบใกล้เวลา เราไม่ติดใจเรื่องนี้ ท่านใดพร้อมและสามารถเดินทางมาได้เราก็ยินดีอย่างมาก