"ยุทธศาสตร์ปชป." เลือกตั้ง66 เป้า80ส.ส.เจาะกทม.-ภูมิภาค
"วันนี้ครั้งนี้เราไม่หวังเกิน100แต่เราหวัง70-80เราต้องได้ และเป็นหวังที่ชัดเจนว่าเราจะได้ที่ไหนบ้าง" นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าและผู้อำนวยการการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์
“สัญญาณเลือกตั้ง” ที่เริ่มนับถอยหลังสู่โหมด180วันสุดท้าย ทำให้ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองยามนี้อยู่ในโหมดระดมทุกสรรพกำลัง งัดสารพัดกลเม็ดเพื่อช่วงชิงที่นั่งในสภา
ไม่ต่างจาก "พรรคประชาธิปัตย์" ก่อนหน้าทยอยเปิดตัวผู้สมัครหน้าเก่า-หน้าใหม่ในหลายพื้นที่ ไล่ลึกไปที่ยุทธศาสตร์ค่ายสีฟ้ารอบนี้มีเดิมพันในการลบปรามาสศึกรอบที่แล้ว
ยุทธศาสตร์เลือดตั้งรอบนี้ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้า ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เราก็จะเข้าสู่ไทม์ไลน์180 วันในการเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งหากรัฐบาลอยู่ครบวาระเท่ากกับว่าเราก็จะมีการเลือกตั้งกันในวันที่7พ.ค.
ฉะนั้นในพรรคประชาธิปัตย์เราเตรียมความพร้อมในส่วนของตัวผู้สมัครและมีการเปิดตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว
โดยเฉพาะ100เขตที่พรรคคิดว่าเป็นเป้าหมายหลักทั้งในอดีตและปัจจุบัน ส่วนอีก300เขตที่เหลือเราต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่มีช่องว่าง แต่ยืนยันว่าจะส่งครบทุกเขตแน่นอน
“มั่นใจว่าถ้ามีเหตุการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดอะไรขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่ครบวาระของสภามีการยุบสภาเราก็มีความพร้อมในเรื่องตัวบุคคล”
ผอ.เลือกตั้งปชป. ยังอธิบายนโยบายที่นำมาเป็นจุดขายค่ายสีฟ้าในการเลือกตั้งรอบนี้ว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดต่างๆได้มีการลงพื้นที่รับฟังความเห็น
ขณะเดียวกันคณะกรรมการเตรียมการเลือกตั้งที่มีเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน เวลานี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและมีการดำเนินการนโยบายด้านต่างๆที่ค่อนข้างจะครอบคลุม เมื่อนโยบายเสร็จก็จะสามารถกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น
“คำถามว่าเมื่อมีความพร้อมอย่างนี้แล้วถ้าเลือกประชาธิปัตย์พรรคจะได้อะไร ก็จะตอบได้ว่าปัญหาประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาCovid19 ซึ่งกระทบเรื่องปากท้องพี่น้องประชาชนในช่วง2-3ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้การท่องเที่ยวและการส่งออกชะงักลง
ทำให้ธุรกิจขนาเดเล็กขนาดย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยสิ่งเหล่านี้เราจะดูแลเขาอย่างไรนี่คือคำตอบ”
วันนี้สิ่งที่พรรคดูแลคือการส่งออกทำอย่างไรให้การส่งออกของเราโตอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องอาหารที่เป็นจุดแข็งของประเทศ โดยจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารและส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับพลังงานที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในอนาคต
- ดัน“ประกันรายได้”รีเทิร์น
ขณะที่ “ภาคเกษตร” เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่ที่โอบอัมคนไทยมีรายได้และมีความมั่นคงทางด้านอาชีพ เป็นเหตุผลว่า เหตุใดปชป.จะต้องมี “โครงการประกันรายได้” เกษตรกร เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ 3ปีที่ผ่านมาเราใช้เงินไปดูแลเหล่านี้ราว5แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้มั่นใจให้ได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งต่างๆมีมากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะทำให้ได้ท่ามกลางคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะพาประเทศไปทางไหน อีกหนึ่งนโยบายที่จะทำคือเรื่อง "การศึกษา" ทั้งระบบ มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนในอนาคต
ขณะที่ปัญหาเรื่อง "ยาเสพติด" ซึ่งถูกพูดถึง ณ ปัจจุบัน ต้องมีมาตรการหยุดยั้งให้ได้ 2-3เรื่องเหล่านี้พรรคจะต้องหาคำตอบให้ได้เมื่อถึงเวลาท่านหัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้ประกาศสิ่งเหล่านี้
“หัวใจหลักของพรรคประชาธิปัตย์คือความเป็นสถาบัน บุคคลากรจะต้องมีความพร้อม ปชป.ต้องเป็นพรรคของประชาชนใครจะมาสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกลและระเบียบของพรรค จึงเป็นเหตุผลที่พรรคมีคนทุกช่วงวัยรวมอยู่ที่นี่”
ผอ.เลือกตั้งปชป. ยังมองว่า กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจอีกกระทรวงหนึ่งของประเทศถ้าเราดูตัวเลขส่งออกปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการส่งออกยังเป็นเครื่องจักรเครื่องเดียวที่ทำรายได้เข้าประเทศในขณะที่เครื่องจักรอื่นเริ่มอ่อนล้า
“รองหัวหน้าพรรคปชป.” ยังไขข้อสงสัยในเรื่องราคาสินค้าซึ่งถูกเปรียบเปรยว่า เป็นยุค "ของแพงค่าแรงถูก" ว่า
กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถไปบอกให้ภาคอุตสาหกรรมลดราคาสินค้าได้ในทันทีเพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบไปยังภาคการผลิตท่าจะต้องหยุดผลิตสินค้า ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องมีการนำนโยบายการคลังมาใช้นำมาสู่นโยบายคนละครึ่งในช่วงที่ผ่านมา
วันนี้เรามีทีมเศรษฐกิจทั้งนายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายเกียรติ สิทธีอมร รวมถึงคนรุ่นใหม่เช่นนายสรรเสริฐ สมะลาภา หรือนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ โดยเฉพาะในเรื่องทีมเศรษฐกิจทันสมัยที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีทีมการเมืองและทีมสังคม ขอยืนยันว่าเราจะแก้ทุกปัญหาของประเทศได้อย่างแน่นอน
“พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับคณะบุคคลมากกว่าตัวบุคคล เราเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมา8คน ถ้าเราให้ความสำคัญกับหัวหน้าพรรคมากกว่าพรรค วันหนึ่งหัวหน้าพรรคต้องออกไปพรรคมันไปไม่ได้ แต่ในส่วนของปชป.หากเราเปลี่ยนหัวหน้าพรรค พรรคก็จะเดินหน้าต่อไปได้ นี่คือสิ่งที่เราจะทำ พรรคจะไม่เสนออะไรที่หวือหวาแล้วไปได้ มันเสนอให้คนชอบได้ แต่มันทำให้ประเทศไปสู่ความเสี่ยงเราไม่ทำ”
- ถอดบทเรียน“รัฐบาลชวน2”ฟื้นวิกฤติปชป.
ผอ.เลือกตั้งปชป. ยังประเมินเป้าหมายที่นั่งส.ส.รอบนี้ว่า เขตหลักเรามีประมาณ100เขตจำนวนนี้เป็นเขตที่เราหวังที่นั่ง70-80 ที่นั่ง
เรามั่นใจว่าเรามีที่นั่งเพิ่มจากเดิม เดิมเราได้52ที่นั่งรอบหน้าเราจะได้มากกว่า52ที่นั่งแน่อนอน ถามว่าเรามีความมั่นใจได้อย่างไร ปี35/1 ท่านชวนเป็นหัวหน้าพรรคเราได้46ที่นั่ง มา35/2 ห่างไป6เดือนเราได้79ที่นั่งประชาธิปัตย์จึงได้เป็นแกนนำรัฐบาลท่านชวนได้เป็นนายกฯ
"วันนี้ครั้งนี้เราไม่หวังเกิน100แต่เราหวัง70-80เราต้องได้ และเป็นหวังที่ชัดเจนว่าเราจะได้ที่ไหนบ้าง"
“นิพนธ์” ยังพูดถึงยุทธศาสตร์การสู้สนามภาคใต้รวมถึงกทม.ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ในส่วนของ "ภาคใต้" เวลามีการเลือกตั้งไม่มีครั้งไหนที่ไม่มีการแข่งขัน
ปี2518-2519 เราแข่งขันกับพรรคกิจสังคมซึ่งเวลานั้นกระแสมาแรงมาก ก่อนที่ต่อมาจะแข่งขันกับความหวังใหม่และกิจสังคม ซึ่งเป็นธรรมดาทุกยุคทุกสมัย
ผู้แทน "ภาคใต้" รอบต่อไปจะมี58ที่นั่ง เราตั้งเป้าไว้ที่40ที่นั่ง นั่นหมายความว่าพรรคยังมีพื้นที่ที่เสี่ยงที่ยังต่อสู้อยู่อีก18 ที่นั่งซึ่งเราก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้
ในการเลือกตั้งปี2548 ภาคใต้มีส.ส.54ที่นั่ง ปชป.ได้ 52 ที่นั่ง ปี2554 มีส.ส.52 ประชาธิปัตย์ได้46 ที่นั่ง
"รอบนี้เราตั้งเป้าที่40 ยอมรับว่า อีก18ที่นั่งโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรอบที่แล้วเราได้1คนที่เราต้องไปสู้ให้มากขึ้น"
- หวังคนกรุงให้โอกาส- “เหนือ-อีสาน”ฟื้น
ขณะที่ “กทม.” พูดได้ว่าปชป.ไม่ต่ำไปกว่านี้อีกแล้วเพราะปี2562 เราไม่ได้ส.ส.เลย
เพราะฉะนั้นเมื่อฐานเราเป็นศูนย์ เราก็ต้องพยายามเมื่อเราดูจากการเลือกตั้งสก.ที่ผ่านมา เราได้9ที่นั่ง แต่อีก7เขตเราได้อันดับ2ซึ่งบางเขตแพ้ไปเพียงหลักร้อยถึงหลักพัน
“ ในส่วนของสก.มี50เขต50คนพอทอนมาเป็นส.ส.จะเหลือ33คน เราก็ติดว่าจาก9มันควรจะเหลือสัก6-7จาก9 แต่มันมีที่เป็นที่2อีก7เขตเราต้องไปทอนเป็นผู้แทนมาให้ได้อีกสัก3คนเราก็จะได้ผู้แทน10คน”
ผอ.เลือกตั้งปชป. มองว่า ปรากฎการณ์ "แลนด์สไลด์" สนามกทม.เกิดขึ้นเฉพาะคะแนนในส่วนของผู้ว่ากทม.แต่ถ้าเราไปดูคะแนนพื้นที่ คะแนนสก.ในรายเขต เวลานี้เรามีคะแนนอยู่แล้ว
บางเขตก็ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองอื่นมาตั้งแต่ในอดีตการติดต่อการครองพื้นที่มายาวนานมันมีผล เพราะการเมืองเรื่องเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ดูในเรื่องนี้ว่าพื้นที่ไหนที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด พื้นที่ไหนเป็นจุดอ่อนเราก็มีความพยายามให้มากที่สุด
“รอบนี้เรารู้แล้วว่าเราจะต้องเอาอะไรกลับมาหมายความว่าเรายังมีฐานที่มั่นอยู่ เราเชื่อว่าเวลา3ปีกว่าคนกรุงเทพเข้าใจเรามากขึ้น ขณะที่ปชป.เองก็ต้องไปปรับในสิ่งที่เคยทำผิดพลาดเราเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะให้โอกาสเราเชื่อว่าประชาชนจะให้โอกาส”
แม้กระทั่ง "ภาคเหนือ" ที่เราเหลืออยู่เพียง1ที่นั่งแต่3ปีกว่าที่ผ่านมา อดีตส.ส.ที่พลาดในครั้งที่แล้วยังอยู่กับเราและทำงานในพื้นที่ตลอด10กว่าคน ซึ่งเราเชื่อว่าเขาจะกลับมา
ขณะที่ "ภาคกลางอีสาน" ที่เป็นจุดอ่อนที่กรรมการบริหารพรรคลงพื้นที่ไปช่วยมากขึ้นจึงเชื่อว่าเราได้เพิ่มมากขึ้น
- ซื้อตัวส.ส."จุดอ่อน"วงจรประชาธิปไตย
ส่วนปรากฎการณ์การเมืองเกมดูดส.ส.ที่เกิดขึ้นเวลานี้ “นิพนธ์” มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกบยุคทุกสมัย จะว่าเป็นจุดอ่อนการเมืองไทยก็ได้ ฉะนั้นคิดว่าต้องอยู่ที่พี่น้องประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไร
“แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะดูได้คือระบบการเมืองถ้ามันไม่นิ่ง หรือใช้เงินเป็นเรื่องใหญ่เราก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตเราจะคิดว่าระบบประชาธิปไตยของประเทศจะเดินไปในทิศทางไหนถ้าใช้เงินเป็นตัวตั้งผมคิดว่าวันข้างหน้าอันตราย”
ผอ.เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวทิ้งท้าย ในประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบของกติกาเลือกตั้ง ณ เวลานี้ ว่า กฎกติกาถ้ามีการบังคับใช้อย่างเท่าเทียมไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการปฏิบัติคิดว่ากกต.ต้องเชิญพรรคการเมืองไปหารือร่วมกันเพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรงร่วมกัน