เคาะ 5 ปี ไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นักแสดงต่างชาติ ที่มาถ่ายทำในไทย

เคาะ 5 ปี ไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นักแสดงต่างชาติ ที่มาถ่ายทำในไทย

ครม.อนุมัติยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นักแสดงชาวต่างชาติที่มาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 5 ปี หวังดึงดูดการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ตปท.ในไทยกว่า 3.5 พันล้านบาท

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่.. (พ.ศ.).... ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

เพื่อดึงดูดการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์และนักแสดงที่มีชื่อเสียงไปยังต่างประเทศทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงนี้ คือ จะยกเว้นให้เงินได้ ของนักแสดงภาพยนตร์ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้มาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศที่สร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยร่างกฎกระทรวงจะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“มาตรการนี้จึงเป็นการดึงดูดและจูงใจให้นักแสดงต่างชาติและกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติมาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศไทย นอกจากจะได้ประโยชน์ทาง soft power ที่ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกจะได้รู้จักสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ กระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ร้อยละ 10 จากนักแสดงภาพยนตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ กรณีที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้นคาดว่าจะเป็นมูลค่าปีละประมาณ 14.35 ล้านบาท แต่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3,500 ล้านบาท ยังไม่นับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการถ่ายทอดความรู้-บุคลากรอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรมไทยกับต่างประเทศ

รวมถึงผลประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศผ่านภาพยนตร์ นักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงของวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการนี้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศในระยะยาวต่อไป