“ประวิตร” สั่ง “มท.-สตช.” แก้อุบัติเหตุบนถนน เพิ่มโทษคนทำผิดซ้ำ เมาแล้วขับ
“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ถก คกก.นโยบายป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ กำชับ “มท.-สตช.” เดินหน้าแผนปฏิบัติ ลดการบาดเจ็บ สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เน้น มาตรการเชิงรุก ระบุ พ.ร.บ.จราจรฯ ฉบับใหม่ เพิ่มโทษผู้ทำผิดซ้ำ เมาแล้วขับ ป้องกันเด็กแว้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ครั้งที่2/2565 ร่วมกับ ผวจ.ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เพื่อปรับปรุงมาตรการทางกฏหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้รถใช้ถนน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ เช่น การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การเพิ่มโทษผู้ทำผิดซ้ำ การขับรถขณะเมาสุรา การป้องกันการแข่งรถ เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ก.ย.65 รวมทั้งระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ปี65 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 ม.ค.66 และรับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกำหนดให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น"วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน" เพื่อย้ำเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะ จะต้องระมัดระวังความปลอดภัย ต่อผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างยิ่งยวด สืบเนื่องจากเหตุการณ์ วันที่ "หมอกระต่าย"หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ถูกรถจักรยานยนต์ชนบนทางม้าลาย เมื่อ 21 ม.ค.65 ที่ผ่านมาแล้ว
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ.2566 โดยช่วงเทศกาลปีใหม่และวันสงกรานต์ ปี66 กำหนดชื่อโครงการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" และเห็นชอบ (ร่าง)แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ปี65-70 ภายใต้วิสัยทัศน์ "มุ่งสู่การสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน"
พล.อ.ประวิตร ได้กำชับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งนำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเคร่งครัด เพื่อลดการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ได้อย่างต่อเนื่อง และจากแนวโน้มอุบัติเหตุทางถนนที่ลดลงในขณะนี้และขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานอย่างได้ผล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเพิ่มการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียใจ เพราะคนในครอบครัวเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการจากอุบัติเหตุ โดยเน้นมาตรการเชิงรุก วิเคราะห์จุดเกิดเหตุซ้ำควบคู่ประชาสัมพันธ์ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงด้าน คน ถนน และยานพาหนะ ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย 100% พร้อมสร้างการรับรู้ ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะ และผู้ใช้ถนนร่วมกันทุกคน