ผ่าอาณาจักรแสนล้าน 2 เจ้าสัววงการ “น้ำเมา” เอฟเฟกต์คว่ำ กม.สุราก้าวหน้า
ผ่าอาณาจักรแสนล้าน! 2 “เจ้าสัว” วงการน้ำเมา “เครือช้าง” รายได้ปี 64 กว่า 2 แสนล้าน “สุรา-เบียร์” ผลผลิตหลัก ส่วน “เครือสิงห์” ปี 64 กวาดไปหมื่นล้าน ก่อนสะพัด ครม.มีใบสั่งสภาฯ “โหวตคว่ำ” ร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า”
เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ถูกเสนอโดย “พรรคก้าวไกล”
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือ “ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า” นำโดย “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส.กทม. หนึ่งในแกนนำพรรคก้าวไกล อดีตนักต้มเบียร์คราฟท์ เสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสภาหวังให้เปิดกว้างในการผลิตและจำหน่าย “เครื่องดองของเมา” ทลายการผูกขาดโดย “เจ้าใหญ่”
ร่างกฎหมายนี้ ถูกดองมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติข้างมากส่งกลับร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ต่อมา ครม.ส่งร่างดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ก่อนจะถูกส่งกลับเข้าญัตติประชุมสภาฯ ในวันที่ 2-4 พ.ย.2565
ท่ามกลางกระแสสะพัดว่า “ครม.” ส่งสัญญาณมายังพรรคร่วมรัฐบาลให้ “คว่ำร่าง” กฎหมายดังกล่าว ทำเอา “ก้าวไกล” และพรรคร่วมฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างหนาหูว่ารับใบสั่งจากรัฐบาล ทำให้สภาไม่เป็นอิสระจากการทำงาน
อย่างไรก็ดี “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกตัวปกป้องว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ได้มาจาก ครม. และจะมีการประชุมกันของวิปรัฐบาลในวันที่ 31 ต.ค.นี้
อ่านข่าว: "วิปรัฐบาล" ป้อง "ครม." ไม่เกี่ยวกระแสคว่ำ ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า-กัญชา
ตัดภาพกลับมาในเชิง “ธุรกิจน้ำเมา” ในประเทศไทย เท่าที่หลายคนจำความได้มีอยู่ 2 แบรนด์ที่ผลัดกันออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุรา-เบียร์ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลายยี่ห้อในตลาดตอนนี้ถูกผลิต-นำเข้าจาก 2 แบรนด์นี้ ได้แก่ “เครือช้าง” และ “เครือสิงห์”
เริ่มกันที่ “เครือช้าง” เจ้าผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม สุรา และเบียร์หลายยี่ห้อในประเทศ หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีโรงกลั่นในหลายประเทศ ยังแตกไลน์ธุรกิจการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วย รวมมีบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 138 บริษัท ในไทย 93 แห่ง ต่างประเทศ 44 แห่ง ยังไม่นับธุรกิจส่วนตัวของบรรดา “เจ้าของ”
บริษัทแม่อย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แจ้งข้อมูลผลประกอบการช่วงไตรมาส 1/2565 (ระหว่างเดือนต.ค.- ธ.ค. 2564 ปีงบประมาณ ต.ค. 2564 - ก.ย. 2565) มีรายได้รวม 77,116 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสุรากว่า 36,015 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14,659 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสุรา/เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร
ย้อนกลับไปรายได้ประจำปี 2564 ของ “ไทยเบฟ” มียอดขายรวมกว่า 240,543 ล้านบาท กำไรสุทธิ 27,339 ล้านบาท โดยมียอดขายแบ่งเป็นสุรา 47.8% เบียร์ 41.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.3% อาหาร 4.7% มีธุรกิจที่กำจัดทิ้ง 0.1%
อาณาจักรช้าง ขับเคลื่อนโดย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ปัจจุบันธุรกิจน้ำเมาผ่องถ่ายมาที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” บุตรชายคนกลาง ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือของ “วัลลภา ไตรโสรัส” บุตรสาวคนรอง
ชื่อของ “เจ้าสัวเจริญ” ได้รับการจับตา เมื่อหลังการรัฐประหารปี 2557 บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หนึ่งในเครือข่าย “ทีซีซีโฮลดิ้ง” ของกลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ” ซื้อที่ดินจาก พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 50-3-08 ไร่ รวมมูลค่า 600 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานว่า “เจ้าสัวเจริญ” มีธุรกิจในเครือข่ายจัดตั้งบนเกาะบริติช เวอร์จิ้นส์ (ประเทศอังกฤษ) บริษัทที่ตั้งบนเกาะฮ่องกง แต่มีสัญชาติบริติช เวอร์จิ้นส์ (บี.วี.ไอ.) อย่างน้อยรวม 22 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นตามทุนจดทะเบียนราว 70,807.2 ล้านบาท
ถัดมาธุรกิจ “เครือสิงห์” โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริหารจัดการโดยคนตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ปัจจุบันผ่องถ่ายมาที่รุ่น 4 นำโดย “ภูริต ภิรมย์ภักดี” นั่งเก้าอี้ “ซีอีโอ” คนใหม่ หลังจากสูญเสีย “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ทายาทรุ่นที่ 3 เสียชีวิตเมื่อ 13 ก.ย. 2565
“เครือสิงห์” คล้ายคลึงกับ “เครือช้าง” นั่นคือ ทำธุรกิจหลักในการผลิต - นำเข้าสุรา/เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ “สิงห์ เอสเตท” และ “สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์” โดยมีธุรกิจในเครือนับร้อยแห่งเช่นกัน
ธุรกิจโฮลดิ้งในสายเครื่องดื่ม สุรา เบียร์ คือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด นำส่งงบการเงินเมื่อปี 2564 มีรายได้รวม 10,645,243,358 บาท กำไรสุทธิ 5,127,672,319 บาท
ส่วนบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด นำส่งงบการเงินปี 2564 มีรายได้รวม 4,226,639,742 บาท กำไรสุทธิ 3,590,700,760 บาท
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “สิงห์ เอสเตท” นำส่งงบการเงินในส่วนงบ 6 เดือนประจำปี 2565 (ณ 30 มิ.ย. 2565) มีรายได้รวม 5,837.81 ล้านบาท กำไรสุทธิ 53.84 ล้านบาท ส่วนปี 2564 มีรายได้รวมทั้งปี 8,316.56 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 137.42 ล้านบาท
ทั้งหมดคือ ผลประกอบของ 2 “เจ้าสัวน้ำเมา” รายใหญ่ของเมืองไทย เห็นได้ว่าผลประกอบการรวมกันเกือบแสนล้านบาท จากผลผลิต - นำเข้า “สุรา-เบียร์” เป็นหลัก “อสังหาริมทรัพย์” รองลงมา
ท่ามกลางกระแสสะพัด ครม.มี “ใบสั่ง” ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร “โหวตคว่ำ” ร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ทลายทุนผูกขาดธุรกิจน้ำเมาอยู่ในตอนนี้
ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์