หลังฉาก ป.ป.ช.ฟัน “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” มหากาพย์คดีเงินอุดหนุนวัด 100 ล้าน
“...บังเอิญเหลือเกินเมื่อมีกระแสข่าวว่า “บ้านปากน้ำ” กระด้างกระเดื่องในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงกระแสข่าวขอต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ลงมติชี้มูลความผิด “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” กับพวก...”
กลายเป็นอีกหนึ่ง “บิ๊กเนม” ทางการเมืองที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด
สำหรับ “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” อดีตนักการเมืองชื่อดัง จ.สมุทรปราการ แกนนำตระกูล “อัศวเหม” หัวเรือใหญ่ “บ้านปากน้ำ” กุมเสียง ส.ส.ในสภาราว 6 เสียง มีอดีตภริยา “ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย” นั่งเก้าอี้นายก อบจ.สมุทรปราการ “เพลง ชนม์ทิดา อัศวเหม” บุตรสาว นั่งเก้าอี้เลขานุการนายก อบจ.สมุทรปราการ
คดีที่ “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต้องย้อนกลับไป 10 ปีก่อน สมัยปี 2554-2556 เมื่อครั้งเจ้าตัวนั่งเก้าอี้ นายก อบจ.สมุทรปราการ กรณีถูกกล่าวหาว่า มีการทุจริตในการใช้จ่ายเงินอุดหนุนวัดของ จ.สมุทรปราการ รวมถึงการฮั้วประมูลก่อสร้างเตาเผาศพ รวมวงเงินกว่า 800 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” กับพวกแค่กรณีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 นั่นคือกรณีใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบอันทำให้เสียหายแก่รัฐ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต มิได้มีประเด็นเกี่ยวกับ “ฮั้วประมูล” แต่อย่างใด
เงื่อนปมที่น่าสนใจคดีดังกล่าว ว่ากันว่าสำนวนคดีนี้ทำเสร็จมาได้สักระยะแล้ว แต่ยังไม่ได้ “ไทม์มิ่ง” ชงเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อลงมติเสียที
บังเอิญเหลือเกินเมื่อมีกระแสข่าวว่า “บ้านปากน้ำ” กระด้างกระเดื่องในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงกระแสข่าวขอต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ลงมติชี้มูลความผิด “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” กับพวกพอดี
ย้อนที่มาที่ไปคดีดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างปี 2554-2556 สมัย “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” นั่งเก้าอี้นายก อบจ.สมุทรปราการ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อบจ. กระทั่งพบว่า อบจ. ยุคดังกล่าวมีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนแก่วัดต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ รวมถึงการก่อสร้างเตาเผาศพให้วัด รวม 3 ปี กว่า 800 ล้านบาท
สตง.ตรวจสอบเบื้องต้นพบความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบหลายประการ เช่น งบอุดหนุนวัดดังกล่าวสูงขึ้นทุกปี บางวัดใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ ยกตัวอย่างปี 2554 งบอุดหนุนวัดแห่งหนึ่งให้ก่อสร้างเตาเผาศพ ปรากฏว่าสร้างไม่เสร็จตามสัญญา งบที่ให้ไปไม่เพียงพอจ่าย เพราะมีการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าให้แก่ผู้รับเหมา 50% ทั้งที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใด ๆ และผู้รับเหมาส่วนใหญ่เป็น “รายเดียว” กวาดงานเกือบทั้งจังหวัด เป็นต้น
ข้อมูลจาก สตง.อ้างคำให้การของ “เจ้าอาวาส” วัดหลายแห่ง (ขณะนั้น) ระบุตรงกันว่า ถ้าวัดไม่จ้างผู้รับเหมารายนี้ วัดจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจาก อบจ. ส่งผลให้ผู้รับเหมารายนี้ได้รับงานก่อสร้างเตาเผาศพเกือบทุกวัดในจังหวัด
พลันที่ได้ข้อมูลดังกล่าว สตง.ส่งสำนวนต่อไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน โดยใช้เวลาอีกราว 2 ปี (ประมาณปี 2558) จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ โดยกล่าวหานายชนม์สวัสดิ์ กับพวกรวม 5 ราย (มีเอกชนถูกกล่าวหาด้วย) มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นเจ้าของสำนวน
หลังจากใช้เวลาไต่สวนมาราว 3 ปีเศษ (ปี 2561) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้เคยมีการนำมาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมสั่งให้คณะอนุกรรมการไปไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น
รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ขณะนั้น ระบุว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนสรุปสำนวนครึ่งแรกไปแล้วจำนวน 30 วัด วงเงิน 300 ล้านบาทเศษ จากทั้งหมด 60 วัด วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท เมื่อนำเสนอเรื่องแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมเห็นว่าสำนวนดังกล่าวทำมาแค่ครึ่งเดียว จึงมีมติตีกลับให้ไปทำต่อให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ค่อยเสนอกลับเข้ามาอีกครั้ง
หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็ค่อย ๆ เงียบหายไป กระทั่งเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลผิด “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” ดังกล่าว โดยมีรายงานข่าวระบุว่า มูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาททั้งหมด จากที่โดนกล่าวหาตอนแรกราว 800 ล้านบาท และไม่มีประเด็น “ฮั้วประมูล” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดีการชี้มูลผิดของ ป.ป.ช. เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้น เจ้าตัวยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป