กอ.รมน.“คัมภีร์ประยุทธ์" ป้องภัยคุกคามเก้าอี้นายกฯ ?
พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาในการศึกษา ลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่เป็น มทภ.1 เสธ ทบ. รอง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ. ในการสร้าง กอ.รมน.ให้แข็งแกร่ง เครื่องมือและกลไกสำคัญ ที่ทำให้ภารกิจยุค คสช.จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน บรรลุเป้าหมาย และรวมถึงภารกิจในวันข้างหน้านับต่อจากนี้
“กอ.รมน.” หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำลังเปิดรับสมัคร “มวลชน”ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเข้าอบรมหลักสูตร "ไทยอาสาป้องกันชาติ" (ทสปช.)เสริมสร้างเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการป้องกัน และเฝ้าระวังภัยความมั่นคงในปัจจุบันและอนาคต
การอบรมหลักสูตรดังกล่าว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ ถึงความสำคัญและปกป้องสถาบันหลักของชาติ การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของตนเอง การแจ้งเตือนภัยคุกคาม และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น จึงทำให้ปัจจุบัน กอ.รมน.มีมวลชนทั่วประเทศ ประมาณ 600,000 คน
กอ.รมน.ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในนโยบายปฏิรูปกองทัพของ “พรรคก้าวไกล” ที่หวัง “โละทิ้ง” เพราะถูกมองเป็นหน่วยงานซ้ำซ้อนภารกิจด้านความมั่นคง และมีบทบาทมากขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ที่เปรียบเสมือน “แขน-ขา” ของ “ระบอบประยุทธ์” ที่ใช้โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง
หากจำกันได้ปี 2562 กอ.รมน.ได้แจ้งจับ 7 แกนนำฝ่ายค้าน พร้อมนักวิชาการรวม 12 คน กรณีจัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” จ.ปัตตานี ในฐานความผิดมาตรา 116 เข้าข่ายยุยง ปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องต่อประชาชน จนกลายเป็นที่โจษจันกันมาแล้ว
อีกทั้ง กอ.รมน.ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ จนเป็นที่มาในการชนะเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็น นายกรัฐมนตรี
สำหรับชื่อเดิม กอ.รมน. คือ กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ก่อตั้งในปี 2508 ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร มีภารกิจต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เป็นองค์กรทหารเหนือรัฐ หลังสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุด ก็ถูกลดระดับเป็นเพียงองค์กรภาครัฐทำงานธุรการ
ในปี 2550 นักศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 20 ที่มีชื่อว่า พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ทำงานวิจัยเรื่อง “การปรับบทบาทของกองทัพไทย เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่” โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การยกเครื่อง กอ.รมน. ซึ่งสอดรับกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จำแนกภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยในขณะนั้น 9 ประเด็น
1. ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม 2. ความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันการเมือง 3. การขาดการสมดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและโรคระบาด 5. ความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ 7. แรงงานต่างด้าว และผู้หลบหนีเข้าเมือง 8.ยาเสพติด 9.ความยากจน
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขยับจากแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นเสนาธิการทหารบก นั่งเป็น เลขา กอ.รมน.โดยตำแหน่ง ได้สานต่อภารกิจยกเครื่อง กอ.รมน.ที่ปลุกปั้นมาเองกับมือ ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ปี 2552 ยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.ขณะนั้น ได้ทำตามข้อเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และ รอง ผอ.รมน. ให้ปรับโครงสร้าง กอ.รมน.ใหม่อีกครั้ง โดยเพิ่มตำแหน่ง ผู้ช่วย ผอ.รมน. อีก 1 ตำแหน่ง เพื่อให้ รอง ผบ.ทบ. ซึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ สานต่องาน กอ.รมน.อีกครั้ง ก่อนขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในปีถัดมา
ปัจจุบัน กอ.รมน.ใหม่ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ก.พ.2551 เป็นองค์กรที่มีการปรับโครงสร้างบทบาทและอำนาจหน้าที่ครั้งสำคัญ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 7 ในการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลแนวโน้มของสถานการณ์ ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ กอ.รมน.ตั้งองค์กรดำเนินการ คือศูนย์ติดตามสถานการณ์ กอ.รมน เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างรอยต่อของสถานการณ์จะมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 5 ให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และบรรเทา หรือพิจารณาเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้น ภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดให้
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาในการศึกษา ลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่เป็น มทภ.1 เสธ ทบ. รอง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ. ในการสร้าง กอ.รมน.ให้แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ ที่ส่งผลให้ภารกิจในยุค คสช.จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน บรรลุเป้าหมายไปหลายประการ และยังหมายรวมถึงภารกิจในวันข้างหน้านับต่อจากนี้
ดังนั้น เป้าหมายของ “พรรคก้าวไกล” ที่จะลดบทบาท หรือ โละทิ้ง กอ.รมน. เพื่อตัดแขน-ขา ระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้หวนกลับมาในการเลือกตั้งสมัยหน้า คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด