ดึง-ดัน “ร่างกม.” ตีตก 62 ฉบับ กลไกสภา เครื่องมือ”แข่งเลือกตั้ง”
การเมืองฤดูเลือกตั้งแข่งขัน-เตะสกัดกันทุกเม็ด เพราะไม่มี ส.ส.คนไหนอยากสอบตก ส่วน "คู่แข่ง" ต้องทำนเช่นกัน สกัดทุกช่องเพื่อไม่กวาดแต้ม-ความนิยมไป กลไกลของสภา จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ในเทอมสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบัน “หลายพรรคการเมือง” ต่างคาดหวังที่จะโชว์ผลงาน เพื่อนำไปเป็นแต้มต่อของการหาเสียงเลือกตั้ง
โดยเฉพาะการผลักดันร่างกฎหมาย หรือ ข้อเสนอ ที่เคยรับปากไว้กับประชาชน ตอนหาเสียง2562 ให้เป็นรูปธรรม
แน่นอนว่า ในเรื่องงานกฎหมาย มีหลายพรรคที่ได้สมใจ ผ่านชั้นรับหลักการ เข้าสู่กระบวนการของกรรมาธิการ ผ่านการพิจารณาวาระสองและวาระสาม รวมถีงผลักดันไปสู่ชั้นวุฒิสภา ได้สำเร็จ
เช่น "ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ ร่างพ.ร.บ.กยศ. ที่ขณะนี้ผ่านไปสู่ชั้นวุฒิสภา โดยการแก้ไขกฎหมายนี้ถูกเคลมจาก “พรรคภูมิใจไทย” ว่า ปฏิบัติการพูดแล้วทำ ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนปี62 ทั้งการปลดภาระผู้ค้ำประกัน ขยายเวลาชำระหนี้ ปลอดดอกเบี้ย และยกเลิกค่าปรับ แม้จะมี ส.ส.ทุกพรรคร่วมเสนอ รวมถึง “คณะรัฐมนตรี”
ทว่า ในชั้น “วุฒิสภา” ที่ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการ จะมีความเห็นต่างไปจาก “สภาฯ” โดยเฉพาะ การปลอดดอกเบี้ย และ ไม่มีเบี้ยปรับ
แต่หลายพรรคกลับถูกปฏิเสธ “ร่างกฎหมาย” โดยส่วนใหญ่เป็นร่างกฎหมายที่เสนอ จาก “พรรคฝ่ายค้าน” เช่น ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล, ร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ, ร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร, ร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชการกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นต้น
เมื่อไล่เรียงมาตั้งแต่สภาชุดปัจจุบัน ที่ทำหน้าที่มาตั้งแต่ 24มีนาคม 2562 พบว่ามีร่างกฎหมายที่เสนอ รวมกัน 211 ฉบับ แบ่งเป็นเสนอโดย “ส.ส.” 181 ฉบับ และเสนอโดยประชาชน 30 ฉบับ
ในจำนวนนี้ มีร่างกฎหมายที่ถูก “ตีตก” โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ รวม 38 ฉบับ เพราะมีสถานะเป็น “กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน” แบ่งเป็นของภาคประชาชน 7 ฉบับ ของพรรคฝ่ายค้าน 15 ฉบับ และ พรรคร่วมรัฐบาล 16 ฉบับ
เมื่อตรวจสอบร่างกฎหมายที่ถูก “ตีตก" พบว่า มีความเกี่ยวพันกับนโยบายของหลายพรรคการเมือง ที่เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง62 อาทิ ร่างกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา-มันสำปะหลัง , ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ของ “พรรคภูมิใจไทย” , ร่างพ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุ-บำนาญแห่งชาติ-บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ของ “พรรคเล็กร่วมรัฐบาล-ก้าวไกล- ประชาชาติ” , พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นต้น
ส่วนกฎหมายที่ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ - วุฒิสภา ในชุดนี้ มีทั้งสิ้น 94 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็น กฎหมายของ “รัฐบาล” รวม 57 ฉบับ โดยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 36 ฉบับ ส่วนที่เหลือ 21 ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”
ขณะที่ กฎหมายของ ส.ส. ที่ผ่านการพิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบว่ามีรวม 4 ฉบับ ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายที่รัฐบาล “ทำฉบับประกบ” ทั้งสิ้น
คือ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาณและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565, ร่างพ.ร.บ.การเสนอชื่อข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2565, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564
ขณะที่ปัจจุบัน มีกฎหมายที่อยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร 7 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นร่างที่ “รัฐบาล” เสนอ และทำเป็นฉบับประกบร่างของ ส.ส. ทั้งนี้มีฉบับสำคัญที่ถูกจับตา คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพราะ เป็นร่างกฎหมายที่สร้างความขัดแย้งให้กับพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์”
และลามถึงเกมการเมืองที่ “พรรคเพื่อไทย-พลังประชารัฐ” ร่วมผสมโรง เพื่อหวังขวางนโยบายกัญชาเสรี ที่ “ภูมิใจไทย” ผลักดันตอนหาเสียงเลือกตั้ง สกัด การสร้างคะแนนนิยม ให้เพิ่มขึ้นของ "นักการเมืองในพรรคภูมิใจไทย"
ทางด้าน วุฒิสภา มีร่างกฎหมายที่อยู่ในวาระพิจารณา รวม 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ..., ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และ ร่าง พ.ร.บ.กยศ.
ต้องจับตาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กยศ. ที่ ดูทิศทางแล้ว “ส.ว.” ไม่เอาด้วยกับการปลอดดอกเบี้ย-ปลอดค่าปรับ ให้กับ “ลูกหนี้ กยศ.” เพราะนอกจากกังวลถึงความยั่งยืนของกองทุน กยศ. แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงนัยทางเมืองที่ “รัฐบาล” ไม่เอาด้วย
นับตั้งแต่การเสนอเข้าสู่สภาฯ และถูกส่งไปให้ “นายกฯ” ลงนามรับรองเพราะเป็นกฎหมายการเงิน “พล.อ.ประยุทธ์” เคยไม่ลงนามรับรองมาแล้วรอบหนึ่ง ก่อนจะถูก “เกมการเมืองใต้ดิน” บีบให้ต้อง “รับรอง”
เกมกฎหมายในสภาฯ รวมถึงกลไกของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ล้วนถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่หวังขยายผลช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
เพราะ “ส.ส.” คงไม่มีใครอยาก “สอบตก" หากมีช่องที่ นำคำพูด ไปเป็นการปฏิบัติได้ คือ ประจักษ์ผลงานของผู้แทนในสภาฯ
ดังนั้นต้อง “สู้” กันให้เต็มที่ส่วน ฝ่ายที่กุมอำนาจ ต้องสู้เช่นกัน สู้ทุกทางเพื่อไม่ให้ “การเมืองต่างพรรค” ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจนั้น “สอบได้”.