“ไมค์” แห้ว! ศาล รธน.ตีตกปมนิยาม “โฆษณา” ใช้เครื่องขยายเสียงละเมิดเสรีภาพ

“ไมค์” แห้ว! ศาล รธน.ตีตกปมนิยาม “โฆษณา” ใช้เครื่องขยายเสียงละเมิดเสรีภาพ

ศาล รธน.ตีตกคำโต้แย้ง “ไมค์ ภาณุพงศ์” แกนนำกลุ่มราษฎร ขอให้ตีความบทนิยาม “โฆษณา” โดยใช้เครื่องขยายเสียงล้าหลัง จำกัดเสรีภาพ ชี้ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้บังคับคดี ไม่เข้าหลักเกณฑ์ยื่นคำร้อง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีคำร้องว่าพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 3 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 34 หรือไม่ จากกรณีศาลอาญาส่งคำโต้แย่งของนายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร) กับพวกรวม 3 คน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ 2384/2564 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทย์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ในฐานความผิดร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์,ร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนฯ, ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะฯ,ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

โดยระหว่างการพิจารณาคดีอาญา จำเลยทั้ง 3 โต้แย้งว่าพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 3 บทนิยาทคำว่า “โฆษณา” เป็นบทบัญญัติที่ล้าสมัย จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะไว้เป็นการเฉพาะแล้ว 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติตามความในมาตรา 3 ความหมายของคำว่า “โฆษณา” ไม่ใช่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับวิธีโฆษณาที่กฎหมายกำหนดห้ามกระทำ บทนิยามตามมาตรา 3 จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย