"กมธ.การเมือง" ส.ว. ชี้ปฏิรูปการเมืองไม่คืบ มอง "พรรคการเมือง" หวงอำนาจ
"เสรี" ชี้งานปฏิรูปด้านการเมือง ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่คืบ หลังพบ ส.ส.พยายามแก้กติกาเลือกตั้งขั้นต้น ซัดนักการเมืองหวงอำนาจ-หนุนแก้รธน.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวาระพิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 15 ระหว่างเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2565 ว่า การพัฒนาด้านการเมือง พบว่าพรรคการเมืองยังไม่พัฒนา โดยเฉพาะการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต่อการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะพบว่าสภาฯ เสนอกฎหมายแก้ไข ทำให้กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์พัฒนาการเมือง ปฏิรูปการเมืองได้ เพราะนักการเมืองไม่ยอมให้อำนาจประชาชน และพยายามรวบอำนาจ เพื่อให้คนของตนเองลงเลือกตั้ง ส่วนร่างกฎหมายเมื่อเข้าสู่ชั้น ส.ว. กลับพบว่าได้รับการยินยอม จากวุฒิสภา ทั้งนี้กรณีดังกล่าวมีส.ว.อีกชุด ทำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วต้องติดตามกันต่อไป
นายเสรี กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ใกล้ครบ5 ปี จึงควรทบทวน หรือยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เป็นทางออก ที่ทำให้บ้านเมืองสงบ หากติกาที่ได้รับการเป็นที่ยอมรับ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ขณะที่นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายในวาระเดียวกันต่อการปฏิรูปด้านการเมือง ว่า จากการติดตามศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบ เพื่อให้ความรู้ด้านการเมือง การปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชน พบปัญหาสำคัญ คือ การเลือกตั้งทุกระดับไม่สุจริตเที่ยงธรรม การเลือกตั้งพบการซื้อเสียง ทำผิดไม่กลัวความเสียหาย ด้านนโยบายพรรคการเมืองไม่คำนึงถึงผลกระทบและควาเสียหายตามที่ประกาศตอนหาเสียง ทั้งที่กฎหมายกำหนดกลไกให้พรรคการเมืองรับผิดชอบต่อการหาเสียงไม่เกิดจริงและเมื่อเป็นรัฐบาลไม่ได้นำนโยบายมาปฏิบัติทำให้กิดความเสียหาย
“กกต. มี กกต.จังหวัดไม่สามารถส่งเสริศูนย์ส่งเสริมฯ ให้เรียบร้อยและมีประสิทธิภาพต่อการให้ความรู้ประชาชนและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ทั้งนี้ กกต. ได้ทำบันทึกความตกลงความร่วมมือ 6 หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ชุมชน อสม. ขับเคลื่อน แต่พบข้อมูลจากการลงพื้นที่ 20 จังหวัดพบว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด แม้จะมีบันทึกความร่วมมือแต่หน่วงานในท้องถิ่นไม่เคยเห็นบันทึกความร่วมมือดังกล่าว อีกทั้งกรรมการจังหวัดไม่รับทราบ อีกทั้งบุคลากรของหน่วยงานที่ทำบันทึกข้อตกลงกับกกต. ไม่ให้ความสนใจ ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ไม่ดูแล” นายเฉลิมชัย กล่าว